ลูกตื่นร้องไห้ตอนกลางคืน

Alternative Textaccount_circle
event

ไม่ต้องกังวลใจค่ะ เพราะว่าร้อยละ 70 ของเด็กอายุน้อยกว่า 5 ขวบที่เคยมีหรือยังมีปัญหาตื่นขึ้นมาร้องไห้กลางดึก ไม่ถือว่าผิดปกติ แต่เป็นเพราะว่า ไม่เคยถูกฝึกให้หลับเอง หากต้องการฝึกให้ลูกหลับเองได้ก็มีวิธีค่ะ

 
• วางลูกให้นอนในเตียงตอนที่ลูกเพียงเคลิ้มๆ ไม่ถึงกับหลับ แล้วตบก้นเบาๆ ต่อ ถึงลูกร้องไห้ก็ไม่ต้องอุ้มขึ้นมา แต่ให้พูดปลอบด้วยน้ำเสียงอ่อนโยน “หลับฝันดีนะลูก”

 
• กรณีที่เคยให้เข้าเต้าหรือให้ขวดนม ขั้นแรก คือยุติการให้นม แต่ใช้วิธีอุ้มขึ้นมาหรือตบก้นเบาๆ และพูดด้วยน้ำเสียงอ่อนโยน อาจใช้เวลาไม่กี่วันจนถึง 1 สัปดาห์ มีน้อยมากที่ใช้เวลานานกว่านั้น และเมื่อทำได้สำเร็จ ขั้นต่อไปให้ใช้วิธีเข้าไปอยู่ใกล้ๆ แต่ไม่ต้องอุ้มขึ้นมาหรือตบก้น

 
• เด็กบางคนมีปัญหาเกี่ยวกับการนอน เช่น

 
– นอนละเมอร้องไห้ มีอาการร้องไห้ไม่ลืมหู ลืมตาหลังจากนอนหลับไปนาน 90 นาที ร้องอยู่นาน 10 – 30 นาที ทำอย่างไรก็ไม่เงียบ แต่จะเงียบเอง ตื่นมาจะจำอะไรไม่ได้ โตขึ้นอาการจะดีขึ้นเองถึงแม้ว่าไม่ได้แก้ไข วิธีแก้ไข อาจทำได้โดยการปลุกลูก 15 นาทีก่อนเวลาตื่นร้อง แล้วยื้อให้ลูกไม่หลับนานประมาณ 5 นาที แล้วจึงค่อยปล่อยให้หลับ ทำต่อเนื่อง 1 – 2 สัปดาห์

 
– นอนฝันร้าย อาจสัมพันธ์กับหลายเหตุ เช่น เล่นมากเกินไปก่อนเข้านอน หรือเครียดจากเรื่องต่างๆ เช่น ย้ายบ้าน มีน้องใหม่ เพิ่งเข้าโรงเรียน หรือดูรายการทีวีที่น่ากลัว วิธีแก้ไข คือ งดการเล่นมากเกินไปก่อนนอน หาวิธีคลายเครียดในชีวิตประจำวัน โดยการสร้างความมั่นใจ ให้ความรัก ความเอาใจใส่ และไม่ให้ดูรายการทีวีน่ากลัว

 
• เด็กบางคนมีปัญหาสุขภาพ เช่น

 
– โรคภูมิแพ้ หายใจลำบาก คัดจมูก ต่อมอดีนอยด์และทอนซิลโต ทำให้เกิดภาวะขาดออกซิเจนขณะนอนหลับลึก จึงตื่นบ่อย หรือเป็นโรคผิวหนังภูมิแพ้ จะมีอาการคันมาก นอนไม่ได้เช่นกัน วิธีแก้ไข คือ รักษาภาวะภูมิแพ้

 
– บางคนมีอาการ แพ้อาหารหรือยา บางอย่างทำให้นอนหลับไม่ดี วิธีแก้ไข คือ หลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้

 
• กรณีที่เคยหลับยาว แต่อยู่มาวันหนึ่งมีปัญหาตื่นขึ้นมาร้อง อาจมีปัญหา ความเครียดหรือกังวลกับการแยกจากแม่ มักพบในกรณีที่เด็กเริ่มโตขึ้น อายุประมาณ 12 – 14 เดือน เนื่องจากแม่ทำงานนอกบ้าน มีเวลาอยู่กับลูกน้อย วิธีแก้ไข คือ ให้แม่ใช้เวลาคุณภาพอยู่กับลูก เป็นการเสริมสร้างความมั่นใจให้ลูก หรือลูกอาจตื่นร้องไห้เพราะ ความเจ็บป่วย เช่น ปวดหูเนื่องจากเป็นโรคหูอักเสบ ปวดฟันจากฟันขึ้น ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง

 

 

บทความโดย: แพทย์หญิงสุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ กุมารแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านทารกแรกเกิด

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up