อาย ลูกขี้อาย เตาะแตะ เด็กเล็ก

ลูกอายเป็นแล้วนะ! ช่วยลูกเตาะแตะรับมือ “ความอาย” กันเถอะ

Alternative Textaccount_circle
event
อาย ลูกขี้อาย เตาะแตะ เด็กเล็ก
อาย ลูกขี้อาย เตาะแตะ เด็กเล็ก

ในวัยนี้เวลาคุณเรียกใครให้มาดูเจ้าตัวเล็กของคุณแต่งชุดสวยชุดหล่อ แล้วเห็นเขาไม่สบตาใคร ยืนโยกตัวไปมา เล่นกระดุมเสื้อ ไม่เหมือนก่อนหน้านี้ที่เขาจะสนุกกับการใส่ชุดต่างๆ ถ้ามีเสียงปรบมือหรือเสียงเชียร์เจ้าตัวเล็กยังเต้นโชว์แถมอีกด้วย แต่ถ้าคุณกำลังคะยั้นคะยอให้เขาทำเหมือนเดิม คงต้องขอให้เปลี่ยนใหม่!

ลูกน้อยของคุณกำลังแสดงออกว่าเขากำลังอาย รู้สึกอึดอัดขัดเขิน ซึ่งอาการแบบนี้เป็นเรื่องปกติ และถือได้ว่าลูกน้อยมาถึงอีกจุดหนึ่งของพัฒนาการทางอารมณ์แล้ว! เป็นเรื่องน่ายินดีสำหรับพ่อแม่ค่ะ

เมื่ออายุราวๆ 1 ขวบ 3 เดือน ถึง 2 ขวบเป็นต้นไป เด็กจะเริ่มรู้สึกถึง การมีตัวตน (Self-Awareness) ชัดขึ้น ทั้งที่ก่อนหน้าเขาอาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเขาเองเป็นใคร ไม่รู้แม้กระทั่งว่าเงาสะท้อนในกระจกนั้นคือตัวของเขาเอง ดังนั้นเวลาที่เห็นลูกยืนจ้องกระจก แล้วยิ้มหรือเต้นท่าตลกๆ ได้โดยไม่รู้สึกกังวลอะไร ก็เพราะเขากำลังรับรู้ว่ามีเด็กอีกคนอยู่ในกระจก

แต่เมื่อเริ่มรู้แล้วว่าเขามีตัวตนและเงาในกระจกก็คือตัวเขานี่แหละ ถ้าเกิดอะไรขึ้นกับเด็กในกระจก เช่น มีอะไรมาติดหน้า เขาก็จะพยายามเช็ดออกจากหน้าของตัวเองทันที ดังนั้นเมื่อรู้จักตัวเองในฐานะคนๆ หนึ่ง ลูกจึงเริ่มรู้จักอารมณ์ต่างๆ ที่เชื่อมโยงตัวเขากับบุคคลอื่นๆ รอบตัว เช่น มีความรู้สึกอยากมีส่วนร่วม บางทีอาจรู้สึกอิจฉา หรืออับอายก็ได้

พ่อแม่ช่วยลูกน้อยรับมือความอาย ทำได้ไม่ยาก!

1. ให้ลูกเรียกอารมณ์/ความรู้สึกนั้นได้

การบอกอารมณ์/ความรู้สึกที่เกิดขึ้นได้ เป็นจุดเริ่มต้นของการรับมืออารมณ์/ความรู้สึก นั่นคือ ควบคุมอารมณ์ได้ เมื่อลูกเริ่มแสดงออกว่ารู้จักอารมณ์ใหม่ๆ ต้องช่วยบอกลูกว่าความรู้สึกที่กำลังเกิดขึ้นกับเขานั้น มีชื่อเรียกว่าอะไร เช่น หนูกำลังอายนะจ๊ะ หรือหนูกำลังรู้สึกอิจฉาอยู่นะลูก

2. สังเกตท่าทีและอาการของลูก

เพราะเด็กแต่ละคนรับมือกับความรู้สึกต่างๆ ไม่เหมือนกัน บางคนอาจสนุกที่ได้รู้สึกอะไรใหม่ๆ และปรับตัวได้ ขณะที่บางคนอาจรู้สึกอึดอัดมาก ถ้าดูท่าทางลูกไม่ชอบหรือมีสีหน้าไม่ดี เมื่อต้องตกเป็นเป้าสายตา ควรพาเขาออกจากตรงนั้น และถ้าเป็นไปได้ควรหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่ทำให้ลูกต้องรู้สึกอายมากๆ

3. ชวนคุยไม่ให้กลัวความรู้สึกนี้

ด้วยการตั้งคำถามสั้นๆ เช่น “ลูกรู้สึกดีหรือไม่ดี ตอนที่รู้สึกอาย” และบอกเล่าสั้นๆ ถึงเรื่องความรู้สึกว่า “ความรู้สึกมีทั้งดีและไม่ดี พ่อกับแม่ก็มีเหมือนลูกนี่แหละ ทุกคนก็มีเหมือนกันนะ อีกหน่อยลูกก็จะได้รู้จักอารมณ์ใหม่ๆ อีกเยอะเลย”

 

บทความโดย:  กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up