รับมือลูก ชักพูดเยอะ

Alternative Textaccount_circle
event

พ่อยื่นจานให้ แต่ยังไปไม่ทันถึงไหน จานก็ตก (โชคดีที่ไม่ใช่จานแก้ว) พ่อตู่คิดว่า น่าจะรู้อยู่แล้วว่า ลูกน้อยยังทำไม่ได้อย่างที่พูดหรอก

 
แคลร์ เลอร์เนอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็ก ของมูลนิธิ Zero to Three อธิบายว่า เด็กอายุ 1 ขวบ 7 เดือนไปแล้วอย่างใบตอง อยู่ในช่วงที่เรียกว่า ช่างพูดเกินวัย เพราะเขาจะพูดได้ 4-5 คำในประโยคหนึ่ง และก่อนถึงวัย 2 ขวบ เขาจะรู้คำศัพท์มากกว่า 400 คำแล้ว วัยนี้จึงบอกความต้องการของตัวเองได้ แต่มีหลายครั้งที่คำพูดกับความเข้าใจไม่ตรงกัน คือ พูดได้แล้ว แต่ความสามารถจริงๆ ยังทำไม่ได้ “นั่นเพราะพัฒนาการทางภาษา กับทักษะทางร่างกาย อารมณ์ และสังคม ของเด็กพัฒนาไปไม่เท่ากัน”

 

 

 
ถ้าคุณมีลูกอยู่ในวัยนี้ สิ่งที่ควรทำคือ

 
– ไม่จำเป็นต้องยอมตามคำขอของลูกทุกครั้ง โดยเฉพาะเมื่อลูกร้องขอทำในสิ่งที่หากพลาดไปอาจเกิดอันตรายได้ เช่น ขอเอาถ้วยกาแฟ หรือแจกันใบโปรดของคุณแม่มาดูใกล้ๆ แบบขอถือไว้เองพลางสัญญิงสัญญาว่าจะไม่ทำตกแตก (คุณคงรู้ว่าสถิติส่วนใหญ่ของผลลัพธ์ที่ตามมาเป็นอย่างไร)

 
– คิดอย่างเด็กเพื่อเข้าใจเด็ก รุ้งอายุขวบครึ่ง ชอบร้องขอพ่อว่าจะ “ไปข้างบน” ให้ได้ แต่ไม่บอกว่าข้างบนคือที่ไหน จนพ่อได้เห็นลูกไต่มานั่งบนขั้นบันได จึงถึงบางอ้อว่า ลูกสาวอยากขึ้นมาเล่นโยกเยก “ข้างบน” บันได เมื่อถอดรหัสออกพ่อจึงมาเล่นด้วยเพื่อคอยระวังอันตรายให้รุ้งด้วย

 
– หนักแน่น พอเริ่มพูดได้มาก ลูกวัยนี้ยิ่งเพลิดเพลินกับการพูด พ่อแม่จะพลัดเข้าสู่วงจรต่อรองอย่างไม่ทันรู้ตัว เพราะลูกจะมีเหตุผล ข้อเสนอ หรือทางออกขอทำนั่นทำนี่ ไปได้เรื่อยๆ ถึงเขาจะต่อรองได้ไม่หยุด ที่สุดแล้วเมื่อคุณเห็นว่าให้เขาทำตามที่ขอไม่ได้ คุณเพียงย้ำคำพูดเดิมของคุณ ความหนักแน่นจะทำให้เขารู้ได้ว่า เขาควรฟัง และปลอดภัยกว่าแน่ถ้าทำตามที่พ่อแม่ยืนยัน

 
– จัดกิจกรรมให้เหมาะ ถึงเขาจะพูดได้มาก ทำสุ้มเสียงเป็นผู้ใหญ่ และอาจขอทำอะไรที่โตเกินตัว แต่วัยนี้ก็ยังไม่พร้อมสำหรับรายการทีวี หนัง หรือหนังสือสำหรับเด็กโต/ ผู้ใหญ่ เขายังต้องการสิ่งที่เหมาะกับวัยอยู่ดี จึงควรประณีตกับการเลือกสิ่งเหล่านี้ให้ลูก

 
– สนุกกับคำพูดของลูก วัยนี้ยังต้องการให้พ่อแม่ช่วยกลั่นกรองสิ่งที่เขาพูด แต่ความช่างพูดนี้ก็ทำให้คุณได้รับรู้ ความคิด ความเห็น ข้อเสนอแบบใสๆ จากใจของลูกวัยเตาะแตะจริงๆ ด้วย ถ้าคุณมองเห็น และช่างรู้เก็บ คุณจะมีต้นทุนดีๆใช้คุยกับลูกไปได้อีกไม่รู้จบ

 

 

บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up