ปล่อยให้ลูก เล่นหนังสือ คือจุดเริ่มต้นการอ่าน

Alternative Textaccount_circle
event

เพราะคุณพ่อคุณรู้ว่าการอ่านหนังสือเป็นเรื่องดีและหวังจะให้ลูกน้อยเป็นนักอ่านตัวยงกับเขาบ้าง หลายบ้านจึงมีหนังสือกองเป็นพะเนิน ทั้งหนังสือผ้า บอร์ดบุ๊ก หนังสือมีเสียงดนตรี เสียงสัตว์ มีชิ้นส่วนต่างๆ ให้จับ สัมผัส ฯลฯ สารพัดที่คุณพ่อคุณแม่จะสรรหาจัดเต็มชุดใหญ่ไว้เป็นมุมหนังสือให้ลูกรักการอ่าน

ปล่อยให้ลูก เล่นหนังสือ คือจุดเริ่มต้นการอ่าน

ทว่าผลลัพธ์ที่หวังกับสิ่งที่เป็นกลับไม่ลงล็อกสักเท่าไร ก็เจ้าหนูเลือกเอามาฉีกเล่นบ้าง (ถึงการฉีกจะเป็นการฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็ก แต่ใครเขาฉีกหนังสือฝึกกล้ามเนื้อมือกันบ้างล่ะ!) เคี้ยวมันบ้าง เอามาต่อเล่นโมเมเป็นตึกหรือเป็นอาณาจักรส่วนตัวบ้าง และก็โยนบ้าง สรุปว่าทำทุกอย่างที่ “ไม่ใช่การอ่าน”

ช้าก่อน…ก็ลงตั้งใจแน่วแน่แล้ว จะด่วนท้อแท้ไปไย แมรี่ บริจิด แบเร็ท หัวเรือใหญ่ของสมาพันธ์หนังสือและงานเขียนสำหรับเด็กแห่งชาติ มีข้อเท็จจริงบางอย่างอยากให้คุณรู้

“เด็กที่กำลังเล่นหนังสือหรือได้เฝ้ามองดูคุณอ่านหนังสืออยู่นั้นกำลังได้เรียนรู้ว่าหนังสือทำงานอย่างไร และการเล่นกับหนังสือที่ดูภายนอกแล้วไม่เห็นจะเกิดประโยชน์อะไรนี่แหละ เป็นการส่งสารที่สำคัญยิ่งไปถึงเด็กๆ ว่า การอ่านเป็นสิ่งสำคัญ”

จริงๆ แล้วการที่เด็กๆ เข้าถึงหนังสือได้ ในแบบเล่นเสียมากกว่าอ่านอย่างที่คุณเห็นนั้น เป็นสัญญาณบอกว่า เขากำลังมีทัศนคติที่ดีต่อการอ่านและการเรียนรู้อย่างยิ่ง

เอาละ ถ้ายังไม่หมดแรงหาหนังสือเข้าบ้านก็จงทำต่อไป หรือเมื่อว่างก็ชวนกันไปเที่ยวห้องสมุดแทนเดินช็อปหรือไปสวนสนุกบ้างก็ได้ “เพราะตราบเท่าที่คุณยังอ่านหนังสือให้เขาฟัง เขาก็สามารถซึมซับภาษาอยู่ได้ทุกขณะนั่นเอง”

 

 

บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสาร Amarin Baby & Kids

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up