ยื่นมือช่วยลูกวัย 9 เดือนได้ แต่ต้องให้ “พอดี”

Alternative Textaccount_circle
event

นอกจากจะบอกได้ว่าสิ่งรอบตัวเข้าพวกกันหรือไม่แล้ว ทารกวัยนี้ยังมีพัฒนาการที่น่าทึ่งทุกด้านด้วย และถ้าเขาได้รับความช่วยเหลือในระดับที่เหมาะสม ก็จะยิ่งเป็นผลดีต่อพัฒนาการดังกล่าว

สังเกตให้ดี ลูกน้อยพยายามทำอะไร และช่วยเอื้อให้เขาทำต่อเองได้

ตอนนี้ลูกน้อยอายุได้ 9 เดือนกว่าแล้ว ลองนึกภาพตามนี้นะ…เจ้าตัวน้อยพยายามจะคลานข้ามธรณีประตูที่เชื่อมระหว่างห้องครัวกับห้องนั่งเล่น แต่ก็ทำไม่ได้เสียทีจนเริ่มจะหงุดหงิด คุณจะทำอย่างไร คุณนั่งลงบนธรณีประตู แล้วอุ้มเขาวางในตำแหน่งที่ช่วยให้คลานข้ามไปได้ง่ายขึ้น หรืออุ้มเขาข้ามธรณีประตูไปเลย นึกทบทวนดู สองอย่างนี้ต่างกันนะ

ถ้าคุณทำอย่างแรกคือ อุ้มลูกน้อยไปวางในตำแหน่งที่เขาจะคลานข้ามธรณีประตูง่ายขึ้น คุณกำลังช่วยเสริมสร้างและพัฒนาความสามารถของเขาจากที่ลูกแสดงออกมาให้เห็น ในไม่ช้า เขาก็จะทำได้โดยไม่ต้องให้คุณช่วย คุณคงสงสัยต่อไปว่าแล้วควรช่วยมากน้อยแค่ไหน

ผู้เชี่ยวชาญอธิบายว่า หลักการช่วยที่เป็นการส่งเสริมพัฒนาการหรือความสามารถของลูกน้อย คือ เมื่อลูกพยายามจะทำอะไรซ้ำแล้วซ้ำอีก และยังทำไม่ได้อย่างที่ต้องการ พ่อแม่ก็จะเข้าไปเอื้ออำนวยในระดับที่เรารู้ว่าเขาจะพยายามทำสิ่งนั้นต่อไปด้วยตัวเองได้จนสำเร็จ ไม่ใช่พ่อแม่เข้าไปช่วยจนกลายเป็นพ่อแม่ทำเสียเอง

นั่นแปลว่าคุณต้องสังเกตว่าลูกน้อยกำลังพยายามจะทำอะไรและมีความสามารถพอที่จะทำได้ด้วยตัวเองหรือไม่แล้ว รวมทั้งต้องรู้จักสังเกตท่าทีที่บ่งชี้ว่าต้องการให้ช่วยด้วย

หากคุณสังเกตและมีโอกาสได้ส่งเสริมความสามารถของลูกน้อยได้ ผลวิจัยก็ชี้ว่าการช่วยลูกในลักษณะนี้เป็นผลดีต่อพัฒนาการด้านร่างกายและพัฒนาการด้านภาษาอีกด้วย

เรื่องอื่นๆ ก็ช่วยลูกน้อยแต่พอดีได้

นักวิจัยให้แม่สอนคำใหม่ ๆ กับลูกต่างวัย โดยให้มีอุปกรณ์ช่วยเพื่อทำท่ากับอุปกรณ์และพูดคำตามท่าที่ทำให้ลูกดู เช่น ใช้ตุ๊กตากบจับตัวกบให้กระโดดและพูดว่า “กบกระโดด”

ผลลัพธ์ที่ได้คือ

  • แม่ที่มีลูกวัย 5-8 เดือนส่วนใหญ่จะสอนลูกด้วยวิธีนี้
  • แม่ที่มีลูกวัย 9 เดือน – 1 ขวบ 5 เดือนใช้วิธีนี้เกินครึ่งหนึ่งเล็กน้อย
  • แม่ที่มีลูกวัย 1 ขวบ 9 เดือน – 2 ขวบ 6 เดือนใช้วิธีนี้แค่ประมาณ 1 ใน 3 เท่านั้น

ที่แม่ใช้วิธีการนี้น้อยลง เมื่อลูกยิ่งโตขึ้น เพราะแม่บอกได้โดยสัญชาตญาณว่ายิ่งโตขึ้นเท่าไร ลูกก็ยิ่งเรียนรู้คำใหม่ ๆ ได้ง่ายขึ้นเท่านั้น จึงปรับวิธีสอนตามระดับความช่วยเหลือที่ลูกต้องการ

ส่งเสริมต่อยอด

ถ้าเห็นลูกเกาะโซฟาเพื่อเหนี่ยวตัวขึ้นมาอยู่ในท่ายืน แล้วแสดงท่าว่าอยากเดินไปที่เก้าอี้ซึ่งอยู่ห่างออกไปแค่ไม่กี่ก้าว แต่คุณดูรู้แล้วว่าเขายังไม่สามารถทำแบบนั้นได้ คุณเพียงจับมือลูกและจูงให้เขาเดินไปที่เก้าอี้ หรือจะเดินไปเหลืออีก 1-2 ก้าวจะถึงเก้าอี้ แล้วค่อยปล่อยมือลูก ให้เขาขยับก้าวเดินไปเกาะเก้าอี้เองอย่างนี้เป็นการช่วยในระดับที่เหมาะสม ไม่ช้า ลูกจะเดินไปที่เก้าอี้ได้เอง

การสังเกตและช่วยเหลือในระดับที่เหมาะสม เป็นสะพานต่อให้ลูกทำสิ่งที่ทำอยู่ด้วยตัวเองจนสำเร็จ ไม่ใช่พ่อแม่เข้าไปช่วยจนกลายเป็นตัวพ่อแม่ทำเอง ใช้ได้ไปจนกระทั่งลูกค่อย ๆ โตขึ้น จะทำให้เขาใช้กรรไกรตัดกระดาษ อ่านหนังสือ ขี่จักรยาน ไปจนถึงว่ายน้ำได้อย่างคล่องแคล่วทีเดียว

 

บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up