เมื่อลูกทารกชัก เรื่องใหญ่ที่พ่อแม่ควรรู้

Alternative Textaccount_circle
event

ถ้าลูกชักจากไข้สูง ควรกินยากันชักไหม?

การรักษาด้วยยากันชักมี 2 แบบ คือ แบบกินต่อเนื่อง กับแบบที่กินเฉพาะเวลามีไข้สูง การรักษาจะขึ้นกับดุลยพินิจของคุณหมอและการตัดสินใจร่วมกันของคุณพ่อคุณแม่ว่าจะให้ยากันชักหรือไม่ เพราะยากันชักทุกตัวมีผลข้างเคียงต่อร่างกาย โดยเฉพาะอย่างกินยาที่กินแบบต่อเนื่อง อาจส่งผลต่อระดับสติปัญญาและพฤติกรรมได้  ยากันชักที่ใช้เฉพาะช่วงไข้สูง ก็อาจทำให้เด็กง่วง ยากต่อการสังเกตอาการของคุณหมอเพื่อหาสาเหตุของไข้ด้วย และการศึกษาพบว่า การให้ยากันชักในระหว่างไข้สูงไม่ได้ช่วยป้องกันโรคลมชักในอนาคต ดังนั้นการจะกินยากันชักจะต้องพิจารณาเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียของการรักษาด้วย

มีไข้ต่ำ ชักได้ไหม?

มีโอกาสเป็นไปได้ค่ะ และกรณีชักจากไข้ต่ำๆ จะมีโอกาสชักซ้ำจากไข้ในครั้งต่อไปได้มากกว่าเด็กที่ชักตอนไข้สูงๆ ด้วย

การชักทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตไหม?

อาการชักเพียงอย่างเดียวไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต แต่ชักอาจเป็นอาการแสดงของโรคบางอย่างที่อาจเป็นอันตรายได้ เช่นการติดเชื้อ หรือภาวะเลือดออกในสมอง

พ่อแม่จะป้องกันไม่ให้ลูกทารกเกิดอาการชักจากไข้ได้อย่างไร?

พยายามป้องกันไม่ให้ลูกมีไข้สูง หากมีไข้รีบเช็ดตัวลดไข้และทานยาพาราเซตามอล การใช้ยาลดไข้สูงชนิดอื่นควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ

เรื่องต้องทำ! เรื่องต้องห้าม! เมื่อลูกชัก

✓ เรื่องต้องทำ

  1. ให้ลูกอยู่ในที่ปลอดภัย บนพื้นราบ ไม่มีของแข็งหรือของมีคมอยู่ใกล้ๆ
  2. จับลูกนอนตะแคง เพื่อกันการสำลัก
  3. ถ้าทำได้ ถ่ายคลิปวิดีโอ ถ่ายให้เห็นทั้งตัวลูกขณะชัก เป็นข้อมูลที่ดีสุดๆ สำหรับคุณหมอ! หากถ่ายคลิปไม่ได้ ให้สังเกตลูกดีๆ เพื่อเล่าให้คุณหมอฟังว่าลูกชักนานเท่าไร ท่าทางการชักเป็นอย่างไร

X เรื่องต้องห้าม

  1. เอาสิ่งของใส่ปาก ความเชื่อที่ว่าให้เอาช้อนใส่ปากลูกเพื่อกันการกัดลิ้น ห้ามเด็ดขาด! เพราะจะยิ่งกระตุ้นให้ลูกสำลัก และอาจทำให้ฟันบิ่นหรือฟันหักและหลุดเข้าคอได้
  2. เขย่าตัวลูก หรือกดปั๊มหัวใจ เพราะนอกจากจะไม่ช่วยให้ลูกหยุดชักแล้วอาจกระตุ้นการสำลักด้วย

ถ้าไม่แน่ใจว่าลูกชักหรือไม่ ทำอย่างไรดี

หากลูกมีอาการแปลกๆ น่าสงสัย แต่ไม่แน่ใจว่าใช่อาการชักหรือเปล่า ให้คุณพ่อคุณแม่ถ่ายคลิปวิดีโอไว้ และพาลูกไปหาหมอ ควรถ่ายให้เห็นทั้งตัว รวมถึงแขนและขาด้วย เพื่อให้คุณหมอสังเกตอาการชักของลูก และวินิจฉัยได้อย่างถูกต้อง

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก พญ. พิชญา ไพศาล กุมารแพทย์ด้านประสาทวิทยา โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท

ที่มา: นิตยสารเรียลพาเรนติ้ง ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2558

บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารฯ

ภาพ: Shutterstock

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up