พาลูกหาหมอฟันแบบไร้กังวล

Alternative Textaccount_circle
event

ถ้าอยากปฏิบัติตามคำแนะนำของผู้รู้ คุณก็ควรพาลูกไปพบหมอฟันทันทีที่ฟันน้ำนมซี่แรกผุดขึ้นมาหรือเมื่อลูกมีอายุราวๆ 1 ขวบ เพราะตอนนั้นลูกยังเล็กมากจนไม่คิดกลัวไปล่วงหน้า (และอาจจำช่วงเวลาดังกล่าวไม่ได้ด้วยซ้ำไป) เมื่อโตขึ้นจนต้องไปตรวจและทำความสะอาดฟันแบบจริงๆ จังๆ เสียที ลูกจะรู้จักคิดกังวลไปต่างๆ นานาแล้วว่าจะเจอกับอะไรบ้าง วิธีที่ดีที่สุดคือสร้างความคุ้นเคยกับอุปกรณ์ทำฟัน เสียงแปลกๆ ของเครื่องมือบางอย่าง และการมีมือของคนแปลกหน้ามาวุ่นวายอยู่ในปาก เคล็ดลับที่จะช่วยให้ลูก (และตัวคุณเอง) สบายใจขึ้น มีดังนี้

1. พาไปดูของจริง

พาลูกไปหาหมอฟันกับคุณด้วย เธอจะได้คุ้นเคยกับรูปร่างและเสียงของอุปกรณ์ชนิดต่างๆ ทั้งยังเห็นว่าแม่ยอมให้คุณหมอตรวจและทำความสะอาดฟันด้วยความสงบ และรู้ว่าแม้อุปกรณ์ขัดฟันจะมีเสียงดังน่ากลัว แต่ก็ไม่ได้ทำให้แม่รู้สึกเจ็บเลยสักนิด

2. เลือกหมอฟันที่เข้าใจเด็ก

หมอฟันเด็กจะมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของพัฒนาการเด็ก และรู้ว่าจะทำให้เด็กๆ สบายใจได้อย่างไร เช่น อาจหานิทานและของเล่นเตรียมไว้ให้ในห้องนั่งรอ นอกจากคุณสมบัติด้านความร่าเริงและเป็นมิตรแล้ว หมอฟันที่ดียังมีตัวช่วยที่เด็กๆ ชอบเป็นอุปกรณ์เสริมในการตรวจ เช่น มีแว่นกันแดดให้เด็กๆ สวมเพื่อปกป้องแสงจ้าบนเก้าอี้ทำฟัน มีของเล่นเพื่อเบนความสนใจไปจากเรื่องในช่องปาก มีหุ่นมือไว้สอนวิธีการแปรงฟันที่ถูกต้อง และมีสติ๊กเกอร์ให้เป็นรางวัลหลังการตรวจ หรือจะให้หมอเด็กของลูกช่วยแนะนำหมอฟันก็ยังได้

3. เลือกเวลาให้ถูก

ไปพบหมอฟันเมื่อคุณและลูกมีเวลาสบายๆ ด้วยกันทั้งคู่ ถ้าต้องรีบกลับไปทำงานหรือเจ้าตัวเล็กเล่นซนจนเหนื่อย การนัดพบครั้งนั้นคงล้มเหลวตั้งแต่ก่อนจะไปถึงคลินิกเสียด้วยซ้ำ

4. เล่นบทบาทสมมติ 

ก่อนถึงวัดนัดสัก 1-2 สัปดาห์ ให้ชวนลูกเล่นเป็นหมอฟันกับคนไข้ โดยผลัดกันใช้กระจกตรวจฟันและใช้นิ้วนับจำนวนฟันในปาก เธอจะได้คุ้นเคยกับความรู้สึกที่เกิดขึ้นเมื่อหมอฟันจริงๆเป็นคนตรวจ

5. หาความรู้จากหนังสือ

หาหนังสือที่ให้ความรู้เกี่ยวกับการไปพบหมอฟันมาอ่านให้ลูกฟัง ซึ่งควรเป็นหนังสือที่อธิบายถึงการปฏิบัติงานของหมอฟันด้วยวิธีที่เด็กเล็กๆ สามารถเข้าใจได้โดยง่าย

 

บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง

ภาพ : shutterstock

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up