ลูกกินนมน้อยเกินไปไหม

Alternative Textaccount_circle
event

คุณแม่สามารถประเมินสภาวะการเจริญเติบโตของลูกได้เองโดยอาศัยกราฟน้ำหนักและส่วนสูงที่ปรากฏในสมุดนัดฉีดวัคซีนของลูก และติดตามดูได้ตั้งแต่แรกเกิดจนอายุ 18 ปี เส้นกราฟมีทั้งหมด 3 เส้น แสดงถึงค่าเฉลี่ย (เส้นกลาง) ค่าเกณฑ์ต่ำสุด (เส้นล่าง) และค่าเกณฑ์สูงสุด (เส้นบน) เช่น เด็กชายอายุ 3 เดือนมีค่าเฉลี่ยของน้ำหนักอยู่ที่ 5.5 กิโลกรัม และค่าปกติอยู่ระหว่าง 4.5-6.5 กิโลกรัม กรณีลูกของคุณแม่ดูเหมือนจะอยู่ในเกณฑ์ปกติที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยเล็กน้อย แต่การแปลผลไม่ควรอาศัยการดูค่าตัวเลขเพียงอย่างเดียว ต้องดูองค์ประกอบอื่นๆร่วมด้วย เช่น รูปร่างของคุณพ่อคุณแม่ ถ้าพ่อแม่รูปร่างเล็ก น้ำหนักลูกอยู่ที่ 5 กิโลกรัมก็น่าจะใช้ได้ ดูน้ำหนักแรกเกิดและการเพิ่มของน้ำหนักในช่วงที่ผ่านมา หากเมื่อแรกเกิดหนัก 2 กิโลกรัม ตอนอายุ 3 เดือนขึ้นมาเป็น 5 กิโลกรัม ถือว่าน้ำหนักเพิ่มดีมาก แต่ถ้าแรกเกิดหนัก 3.8 กิโลกรัมก็ถือว่าเพิ่มน้อยไป ซึ่งอาจเป็นเพราะกินนมไม่พอหรือเจ็บไข้ได้ป่วยจนทำให้กินนมได้น้อย

 
อย่างไรก็ดี จากข้อมูลที่คุณแม่ให้มาว่าลูกกินนมทั้งวันเพียง 12 ออนซ์นั้น (ไม่ทราบว่าได้กินอย่างอื่นร่วมด้วยหรือไม่ เช่น ดูดนมแม่ตอนกลางคืน หรือมีการให้อาหารเสริมอื่นๆ) ถือว่าลูกกินนมน้อยเกินไปค่ะ คงต้องหาสาเหตุของการดูดนมน้อยว่าเป็นเพราะอะไร เช่น ให้ดูดน้ำมากเกินไปจนอืดท้อง ลูกไม่ถูกกับนมที่กินอยู่เพราะขาดน้ำย่อยน้ำตาลในนม (lactose intolerance) หรือแพ้โปรตีนในนม จนทำให้รู้สึกไม่สบายท้องจึงกินได้น้อย การเปลี่ยนนมเป็น lactose free formula หรือนมถั่วอาจช่วยให้กินได้มากขึ้นและเจริญเติบโตดีขึ้น (นมวัวไม่ได้เหมาะกับเด็กทุกคน บางคนกินแล้วไม่ถูกกันค่ะ) หรือเพราะมีความผิดปกติของร่างกาย เช่น เป็นโรคหัวใจ ทำให้ดูดนมแล้วเหนื่อยง่าย เป็นโรคกล้ามเนื้อหูรูดที่กระเพาะอาหารอ่อนแรง ทำให้อาเจียนง่ายทั้งที่กินเข้าไปไม่มาก และเด็กอาจมีอาการปวดแสบขึ้นมาตามหลอดอาหารจากภาวะกรดไหลย้อนจนไม่กล้าดูดนม

 
คุณแม่ควรค่อยๆ สังเกตดูว่าลูกน่าจะเข้ากับลักษณะใดแล้วลองแก้ไขตามสาเหตุนะคะ หากไม่แน่ใจก็พาไปพบแพทย์เพื่อตรวจให้ละเอียด ลูกจะได้เจริญเติบโตอย่างเหมาะสมต่อไปค่ะ

 

 

บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up