4 วิธี รุกล้ำพื้นที่ส่วนตัวลูก

Alternative Textaccount_circle
event

Q: ขอสารภาพว่าอยากแอบอ่านไดอารี่ของลูกสาวค่ะ เพราะลูกกำลังจะเข้าวัยรุ่นแล้ว เลยอยากรู้ว่าเขาคิดอะไรอยู่ หรือว่าสนใจเรื่องอะไรบ้าง แต่อีกใจกลัวว่าจะไม่เหมาะสมและห่วงความรู้สึกลูกหากเขารู้เข้า อยากขอคำแนะนำค่ะ

 

       ไดอารี่คือพื้นที่ส่วนตัวที่เจ้าของจะเขียนทุกความคิด ทุกความรู้สึกอย่างเต็มที่ด้วยความรู้สึกปลอดภัยที่สุด เพราะมีเราคนเดียวเท่านั้นที่รู้ พื้นที่ส่วนตัวจึงเป็นอิสระไม่มีชนชั้นวรรณะ ดังนั้นการไม่อ่านหรือแม้แต่เปิดไดอารี่ จดหมาย เอกสาร อีเมลหรือพื้นที่ส่วนตัวอื่นๆ ที่ไม่ใช่ของเรา ที่ไม่ได้ระบุชื่อเรา จึงเป็นมารยาทสากล

 
นอกจากนี้ อย่าลืมว่าไดอารี่คือพื้นที่ที่เจ้าของเขียนได้ทั้งความจริง เรื่องเพ้อ เรื่องฝัน เรื่องจินตนาการ แล้วคุณจะมั่นใจได้อย่างไรว่าสิ่งที่คุณอ่านจะใช่ความเป็นไปของลูกที่คุณอยากรู้จริงๆ

 
ยังมีอีกหลายวิธีที่คุณจะรู้ความเป็นไปของลูก โดยไม่ต้องรุกล้ำพื้นที่ส่วนตัวของเขา

 

    • ทบทวนความสัมพันธ์ระหว่างคุณกับลูก ความสัมพันธ์ที่ดี รู้สึกปลอดภัย วางใจได้ เป็นเครื่องนำทางให้ลูกกล้าพูดคุยทุกเรื่องทั้งสุขและทุกข์กับคุณทุกอย่าง

 

 

    • ตอบตัวเองสักนิด เหตุผลที่คุณอยากอ่านไดอารี่ของลูกคืออะไร ถ้าเพราะกำลังกังวลหรือรู้สึกว่าลูกผิดปกติไปและคุณสงสัยว่าอาจเกี่ยวข้องกับยาเสพติด การพนัน หรือคบคนที่ไม่น่าไว้วางใจหรือเปล่า ก่อนที่จะคิดไปถึงไดอารี่ ถ้าคุณมีความสัมพันธ์ที่ดีกับลูก การถามเขาตรงๆ จะรวดเร็วทันการณ์กว่าหรือไม่

 

 

    • เปิดใจคุย ถ้าความสัมพันธ์แม่ลูกดี อะไรแน่นอนกว่ากันระหว่างเปิดใจคุย กับต้องแลกระหว่างได้อ่านข้อความที่ไม่อาจมั่นใจได้จากไดอารี่แล้วสูญเสียความไว้วางใจจากลูกตลอดไป ลองนึกภาพตามสักนิดนะคะ ถ้าคุณเลือกไม่เปิดใจคุย และตัดสินใจแอบอ่านไดอารี่ลูก คุณได้พบข้อความหรือเรื่องราวที่ทำให้คุณไม่สบายใจ คุณจะนิ่งเฉยได้หรือ เมื่ออยู่นิ่งไม่ได้ คุณก็ต้องอยากกลับมารู้จากลูกอยู่ดี ทีนี้ต้องขึ้นกับการเก็บอาการของคุณ ว่ากันแต่กรณีเก็บอาการไม่เก่ง ยังไม่ทันไปถึงเรื่องที่คุณไม่สบายใจ ลูกเกิดจับได้ว่าแม่อ่านเรื่องส่วนตัวของเขา คุณคงพอเห็นตอนจบได้กระมัง

 

 

    • คุณใช้เวลาร่วมกับลูกอย่างมีคุณภาพ การใช้เวลาร่วมกันอย่างเข้าใจ เปิดใจกันมากขึ้น ได้รู้จักตัวตนจริงๆ ของลูก รับรองได้ว่าวิธีนี้ดีกว่าแอบอ่านไดอารี่เยอะค่ะ ถ้าคุณแม่จริงใจ ลูกจะเปิดใจตอบรับอย่างแน่นอน

 

 
สำรวจโทรศัพท์ อีกพื้นส่วนตัวสุดห่วงของลูก แบบไม่เสียความรู้สึก

 
แม้โทรศัพท์จะเป็นพื้นที่ส่วนตัวแต่ขณะเดียวกันก็เป็นพื้นที่เปิดเข้า-ออกของอันตรายกับลูกได้ง่ายที่สุดด้วย จึงเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ที่ต้องปกป้องลูกที่ยังอ่อนทั้งความรู้และประสบการณ์ พ่อแม่จะสำรวจพื้นที่สุดหวงของลูกแบบไม่เสียความรู้สึกกันได้อย่างไร มาดูกันค่ะ

 

    • คุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เช่น “หมู่นี้แม่ได้ข้อความแปลกๆ เยอะเลย ลูกได้เหมือนกันไหม พวกข้อความไม่เหมาะสม ลามก หยาบคายหรือว่าขายสินค้าน่ะ” พูดเรื่องของเราก่อนทำให้ลูกเรียนรู้ที่จะวางใจเล่าเรื่องของเขาบ้าง

 

 

    • เตือนตรงๆ ลูกวัยนี้โตพอที่จะต้องรู้ว่าการหลอกลวงมีจริงในสังคม และเขามีโอกาสพบเจอ “แม้ว่าเราจะรู้อะไรมากพอควร แต่เราก็เป็นแค่เด็กที่อาจถูกผู้ใหญ่อายุมากกว่าล่อลวงได้ด้วยชั้นเชิงที่เหนือกว่านะลูก”

 

 

    • เลือกโทรศัพท์ให้เหมาะ อาจเลือกโทรศัพท์ที่ไม่มีอินเทอร์เน็ต ใช้โทรเข้าออกและส่งข้อความได้ก็เพียงพอแก่เด็กวัยนี้

 

 

บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารเรียล พาเรนติ้ง

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up