โรค Aphasia

โรค Aphasia ที่บรูซ วิลลิสป่วย เกิดจากอะไร รักษาได้ไหม

Alternative Textaccount_circle
event
โรค Aphasia
โรค Aphasia

โรค Aphasia ที่บรูซ วิลลิส ป่วย เกิดจากอะไร รักษาได้ไหม

ข่าวดังในวงการฮอลลีวูดที่พระเอกนักบู๊ บรูซ วิลลิส ป่วยด้วย โรค aphasia (อะเฟเซีย) ที่มีผลทำให้เกิดความผิดปกติในการใช้ภาษา และการสื่อความ เป็นผลทำให้เขาต้องอำลาวงการบันเทิง ซึ่งข่าวอาการป่วยนี้ น่าสนใจมากค่ะว่าเกิดจากอะไร รักษาได้ไหม และจะมีโอกาสเกิดขึ้นได้กับคุณพ่อคุณแม่ หรือลูกน้อยหรือไม่ เรามาทำความรู้จักโรคนี้กันค่ะ

โรค Aphasia
โรค Aphasia ทำให้ บรูซ วิลลิส ต้องอำลาวงการ Photo by Angela Weiss / AFP

โรค Aphasia คืออะไร

Aphasia หรือภาวะบกพร่องทางการสื่อความ เป็นความผิดปกติทางการสื่อสาร ซึ่งมักเป็นผลมาจากสมองได้รับความเสียหายจากภาวะเส้นเลือดในสมองแตก หรือการได้รับบาดเจ็บบริเวณศีรษะ ทำให้มีความผิดปกติในด้านทักษะของการสื่อสารและการใช้ภาษา ไม่สามารถโต้ตอบหรือทำความเข้าใจได้ และอาจมีปัญหาทางด้านการอ่านและการเขียนร่วมด้วย

สาเหตุของ Aphasia

เป็นผลมาจากการที่สมองส่วนที่ทำหน้าที่ควบคุมการใช้ภาษาได้รับความเสียหาย ทำให้การลำเลียงเลือดเข้าสู่ในบริเวณดังกล่าวถูกขัดขวาง จนทำให้เนื้อสมองตายในที่สุด อาจเกิดขึ้นได้อย่างกะทันหันหลังเกิดภาวะเส้นเลือดในสมองแตก ภาวะสมองขาดเลือด การได้รับบาดเจ็บบริเวณศีรษะ หรือการเข้ารับการผ่าตัดสมอง

ในบางรายอาการอาจจะเกิดขึ้นอย่างช้า ๆ โดยสาเหตุอาจมาจากเนื้องอก การติดเชื้อในสมอง โรคทางระบบประสาท หรือภาวะเสื่อมถอยของสมองอย่างโรคสมองเสื่อม เป็นต้น

ภาวะ Aphasia มักพบในผู้ป่วยที่มีอาการเส้นเลือดในสมองแตกมากที่สุด สำหรับภาวะ Aphasia แบบชั่วคราวมักมีสาเหตุมาจากอาการไมเกรน อาการชัก หรือภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราว (TIA) ซึ่งเป็นภาวะที่เสี่ยงต่อการเกิดอาการเส้นเลือดในสมองแตก หรือโรคหลอดเลือดสมองได้ในอนาคต

อาการของ Aphasia

ภาวะ Aphasia ในแต่ละคนจะมีอาการที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับบริเวณที่สมองได้รับความเสียหาย และระดับความรุนแรงของความเสียหายนั้น ภาวะนี้ส่งผลกระทบให้เกิดปัญหาต่อการพูด การทำความเข้าใจ การอ่าน การเขียน การสื่อสารและการรับสาร เช่น พูดได้แค่ประโยคสั้น ๆ หรือพูดไม่จบประโยค เรียบเรียงประโยคในการพูดหรือการเขียนให้คนอื่นเข้าใจไม่ได้ ใช้คำไม่เหมาะสม เลือกใช้คำหนึ่งแทนที่อีกคำ พูดคำที่ไม่มีความหมาย หรือไม่เข้าใจในบทสนทนาของผู้อื่น เป็นต้น

โดยภาวะ Aphasia ในแต่ละรูปแบบจะมีอาการที่แตกต่างกันไปตาม เช่น

ภาวะบกพร่องทางการสื่อความแบบที่สามารถสื่อสารได้ หรือ Wernicke’s Aphasia

เกิดจากส่วนกลางของสมองซีกซ้ายได้รับความเสียหาย ผู้ป่วยพูดได้ปกติ แต่ไม่สามารถเข้าใจในสิ่งที่ผู้อื่นพูด ไม่สามารถใช้ภาษาได้อย่างถูกต้อง มีแนวโน้มที่จะพูดประโยคยาว ๆ หรือประโยคที่ซับซ้อนติดต่อกันโดยไม่มีความหมาย ใช้คำที่ไร้สาระ คำฟุ่มเฟือย หรือใช้คำไม่ถูก และไม่ทราบว่าผู้อื่นไม่เข้าใจ

ภาวะบกพร่องทางการสื่อความแบบที่ไม่สามารถสื่อสารได้ หรือ Broca Aphasia

เป็นผลมาจากส่วนหน้าของสมองซีกซ้ายได้รับความเสียหาย จะเข้าใจสิ่งที่ผู้อื่นสื่อสารได้ดีกว่าการพูดสื่อสารออกไป ผู้ป่วยจะสื่อสารได้แค่ประโยคสั้น ๆ พูดไม่จบประโยค หรืออาจลืมคำบางคำ และไม่สามารถเข้าใจสิ่งที่ผู้อื่นสื่อสารได้ทั้งหมด รู้สึกผิดหวังหรือไม่พอใจหากผู้อื่นไม่เข้าใจสิ่งที่ตนเองต้องการจะสื่อ มีอาการอ่อนแรงหรือเป็นอัมพาตในซีกขวา

ภาวะบกพร่องทางการสื่อความแบบ Conduction

ผู้ป่วยมีความเข้าใจและสามารถใช้ภาษาได้ดีทั้งการพูดและการเขียน พูดได้คล่อง แต่ไม่สามารถพูดตามได้หรือหากพูดตามจะพูดผิด

ภาวะบกพร่องทางการสื่อความแบบ Global

เป็นผลจากสมองซีกซ้ายได้รับความเสียหายทั้งส่วนหน้าและส่วนกลาง จะมีปัญหาทั้งการสื่อสารและการรับสาร ไม่สามารถอ่านหรือเขียนได้ มีภาวะบกพร่องทางการสื่อความแบบที่สามารถสื่อสารได้และไม่ได้รวมกัน

หากคุณพ่อคุณแม่สังเกตเห็นว่าตนเองมีปัญหาในการใช้หรือการเข้าใจคำพูด การนึกคำ การเขียน และการอ่าน ควรพบแพทย์โดยเร็วที่สุด

Aphasia หรือภาวะบกพร่องทางการสื่อความ

การรักษา Aphasia

แพทย์จะรักษาด้วยวิธีการบำบัดทางการพูดและภาษาเป็นหลัก เพื่อฟื้นฟูความสามารถด้านการใช้ภาษาและเสริมทักษะการสื่อสาร มีทั้งการบำบัดกับผู้เชี่ยวชาญ การทำกลุ่มบำบัด และการทำครอบครัวบำบัด

แพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญจะฝึกหรือทบทวนการใช้คำ ใช้ประโยคที่ถูกต้อง การพูดทวน และการถามตอบที่เหมาะสมให้แก่ผู้ป่วย รวมทั้งมีการใช้คอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือในการเรียนรู้คำศัพท์และเสียงของคำต่าง ๆ เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยสามารถพัฒนาทักษะด้านการสื่อสาร เข้าร่วมบทสนทนา สื่อสารได้เมื่อถึงเวลาของตนเอง เข้าใจในข้อผิดพลาดทางการใช้คำและแก้ไขบทสนทนาที่ผิดพลาดนั้นได้

อาการของผู้ป่วยจะค่อย ๆ ได้ผลดีขึ้นหลังทำการบำบัดติดต่อกัน แต่บางรายอาจใช้เวลานานกว่าปกติในการบำบัด การบำบัดจะได้ผลที่ดีที่สุด เมื่อเริ่มทันทีหลังจากที่ร่างกายและสมองเริ่มฟื้นตัวจากอาการบาดเจ็บจนอยู่ในอาการที่ปลอดภัย

นอกจากนี้ ยังมีการใช้ยาเพื่อรักษาภาวะ Aphasia แต่อยู่ในระหว่างการศึกษาและทดสอบ ซึ่งยาดังกล่าวเป็นยาที่ช่วยเพิ่มการไหลเวียนเลือดภายในสมอง ช่วยในการฟื้นฟูการทำงานของสมอง หรือเป็นยาที่ช่วยทดแทนสารสื่อประสาทในสมองของผู้ป่วยที่ขาดหรือหมดไป

ภาวะแทรกซ้อนของ Aphasia

ภาวะ Aphasia เป็นภาวะที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เนื่องจากผู้ป่วยจะมีปัญหาด้านการสื่อสาร จึงอาจกระทบต่อความสัมพันธ์ การทำงาน หรือการทำกิจกรรมในแต่ละวัน อีกทั้งอาจทำให้ผู้ป่วยรู้สึกอับอาย หดหู่ เนื่องจากไม่สามารถสื่อสารได้ตามปกติ

การป้องกัน Aphasia

ทำได้โดยหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่สร้างความเสียหายต่อสมองและดูแลสุขภาพของสมองด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น

  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  • รับประทานอาหารที่มีโซเดียมและไขมันต่ำ
  • งดการสูบบุหรี่ 
  • ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่เหมาะสมและเท่าที่จำเป็น
  • ควบคุมระดับความดันโลหิตและไขมันในเลือด
  • ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน หรือมีปัญหาที่เกี่ยวข้องกับระบบการไหลเวียนโลหิต ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างสม่ำเสมอ
  • หากสงสัยว่ามีอาการของภาวะเส้นเลือดในสมองแตก ควรเข้าพบแพทย์โดยเร็วที่สุด รวมถึงหากมีภาวะการเต้นของหัวใจผิดปกติ ควรเข้าพบแพทย์เพื่อรักษาอาการเช่นกัน

โรคนี้ไม่ใช่โรคที่คุณพ่อคุณแม่จะประมาทได้เลย ขอให้รักษาสุขภาพให้แข็งแรง ดูแลสมองด้วยวิธีที่แนะนำ แค่นี้ก็จะห่างไกลจากอาการ Aphasia ได้ค่ะ

ขอบคุณข้อมูลจาก

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ,pobpad

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

ปวดหัวหนัก เด็ก เส้นเลือดในสมองแตก สุดท้ายเสียชีวิต

5 นิสัยพ่อแม่ที่เป็น อุปสรรค ทำร้ายสมองลูก!

วิจัยสำเร็จ!! ดนตรีพัฒนาสมอง เด็กคลอดก่อนกำหนดได้

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up