โรคสมาธิสั้น

แชร์ประสบการณ์ พาลูกตรวจเช็ก “โรคสมาธิสั้น” พร้อมวิธีแก้

Alternative Textaccount_circle
event
โรคสมาธิสั้น
โรคสมาธิสั้น

โรคสมาธิสั้น เป็นกลุ่มอาการที่มีความบกพร่องทางด้านสมาธิ สามารถพบว่าเกิดขึ้นได้กับเด็กเล็ก ซึ่งกลุ่มอาการสมาธิสั้นนั้นมีทั้งที่เป็น สมาธิสั้นแท้ และสมาธิสั้นเทียม ทีมงาน Amarin Baby & Kids ได้อ่านเรื่องราวของคุณแม่สมาชิก Pantip ที่ได้มาแชร์ประสบการณ์ที่ว่าทำไมจึงต้องพาลูกชายวัย 2 ขวบกว่าไปตรวจเช็ก โรคสมาธิสั้น รวมถึงวิธีแก้อย่างไรเพื่อให้อาการลูกดีขึ้น

 

โรคสมาธิสั้น ลูกเราเป็นหรือเปล่านะ!!

ถ้าวันนึงลูกเรามีพฤติกรรมที่ต้องสงสัยว่าเป็น โรคสมาธิสั้น หรือเปล่านะ!? คุณจะทำอย่างไร และจะจัดการหาวิธีแก้ไขอย่างไร? ถ้ายังนึกไม่ออก ผู้เขียนอยากให้ลองอ่านเรื่องจริงจากคุณแม่สมาชิก Pantip ท่านนี้กันค่ะ ที่เธอได้มาแชร์ประสบการณ์ตรงที่เกิดขึ้นกับลูกชายตัวน้อยที่เธอคิดว่าเข้าข่ายเด็กสมาธิสั้น แต่จะด้วยสาเหตุใดนั้น รวมถึงแนวทางการพาลูกไปตรวจเช็ก รักษาจนอาการค่อยๆ ดีขึ้น ต้องทำ ต้องแก้ไขกันตรงจุดไหนบ้าง  ไปติดตามคำตอบพร้อมกันค่ะ…

สวัสดีค่ะ ก่อนอื่นขออนุญาตเท้าความนิดนึงนะคะ  ดิฉันเป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวค่ะ  มีลูกชาย 1 คน ปัจจุบันอายุ 2 ขวบ 9 เดือน เลี้ยงกันสองคนกับคุณยาย  คุณยายจะติดตามใจหลานมาก ด้วยความเป็นหลานชายคนเดียวของบ้าน  ก่อนหน้านี้ดิฉันทำงานนอกบ้าน หน้าที่ดูแลลูกจึงตกเป็นของคุณยาย จนถึงเมื่อปลายปีที่แล้วจึงได้มาเปิดร้านเป็นของตัวเองได้มีเวลาดูแลลูกมากขึ้น จึงเริ่มพบเห็นปัญหาในการเลี้ยงลูกที่ต่างกันของคุณยายกับตัวดิฉันเอง ด้วยความที่เห็นว่าลูกเป็นผู้ชายจึงค่อนข้างเข้มงวดกับลูก อะไรที่ไม่ได้คือไม่ให้เลย  มีตี  มีดุกันตลอด  แต่กับคุณยายนั้น จะอ่อนข้อให้หลานตลอด  เวลาดิฉันดุลูก  ลูกก็จะวิ่งเข้าหาคุณยาย  คุณยายก็จะโอ๋หลานเป็นอย่างนี้ประจำ  ทำให้การสอนลูกของดิฉันเหมือนทำได้ไม่จริงจังเท่าไร  และช่วงที่ดิฉันทำงานนอกบ้านนั้น คุณยายด้วยความที่ไม่ชอบให้หลานรบกวน ชอบให้หลานอยู่นิ่งๆ  สิ่งที่หยิบยื่นให้หลานคือ  แท็บเล็ตพร้อมเปิดการ์ตูนให้หลาน  การดูการ์ตูนของลูกนั้นดูติดต่อกันเป็นชั่วโมง  สะสมมานานเป็นปี  จนมาถึงจุดที่ผลของการกระทำทั้งหลายแสดงออกมา

จุดเริ่มต้นของความคิดที่จะนำลูกไปตรวจเช็กสมาธิสั้น จากที่เกริ่นมาทั้งหมดเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกนั้น ทำให้ลูกชายมีอาการดังนี้ค่ะ

  1. พูดช้า เริ่มพูด 2 ขวบกว่า ก่อนพบหมอยังไม่สามารถพูดแบบมีตัวสะกดได้ แต่สามารถสื่อสารบอกความต้องการได้บ้าง  เช่น หิว หรือ  อยากเข้าห้องน้ำ
  2. อยู่ไม่นิ่ง
  3. เริ่มมีพฤติกรรมก้าวร้าว รุนแรง
  4. พูดไม่ค่อยสบตา
  5. จากเด็กที่ชอบทำอะไรเอง พักหลังเริ่มขอความช่วยเหลือ คนที่สนองตอบได้คือคุณยาย ถ้าไม่อยากทำอะไรเองก็จะวิ่งหา คุณยาย
  6. เอาแต่ใจ ไม่พอใจมีหันหน้าหนี ล่าสุดก่อนพบหมอคือร้องเอาของเล่นที่ห้าง ปกติไม่เคยมีอาการแบบนี้ค่ะ

จนที่สุดแล้วจุดที่ทำให้ดิฉันเลือกพาลูกเข้าพบหมอคือ เมื่อกลางเดือนสิงหาคม  ครูพี่เลี้ยงที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก  แจ้งต่อดิฉันว่า  “คุณแม่คะ  ตอนนี้น้องแกล้งเพื่อนหนักเลยนะคะ  ผลักเพื่อน  ตีเพื่อน  ไม่สนใจเรียน  ชวนเพื่อนคุยตอนเรียน  ขนาดจับให้นั่งคนเดียวก็ยังสามารถชวนเพื่อนเล่นได้  ตอนนี้น้องรบกวนการเรียนของเพื่อนร่วมชั้นนะคะ  แล้วก็น้องเริ่มสอนไม่ได้ ถ้าเขาไม่พอใจจะหันหน้าหนีเลยค่ะ”  ดิฉันก็ได้ถามกลับคุณครูไปว่าคุณครูมีคำแนะนำอย่างไรบ้างคะ  เนื่องจากปกติคุณครูจะแนะนำว่าเราต้องทำอะไรบ้าง  ต้องฝึกลูกอย่างไร  แก้ไขอย่างไร  แต่ครั้งนี้ไม่เหมือนครั้งที่ผ่านมา  คุณครูตอบกลับมาว่า  “คุณแม่ลองพาไปพบหมอดูนะคะ  เขาจะแนะนำได้ว่าต้องแก้ไขอย่างไร”  ตอนนั้นคือคิดหนักเลย  นี่ลูกเราเป็นถึงขนาดนี้แล้วเหรอ  เริ่มหาข้อมูลในอิเตอร์เน็ตว่ามีที่ไหนบ้างที่มีจิตแพทย์เด็ก  เริ่มหาว่าพฤติกรรมที่ลูกเราแสดงออกมามันคืออะไร  ซึ่งผลที่ได้คือ  เราสงสัยว่าลูกเป็นสมาธิสั้นหรือเปล่า  หาข้อมูลอยู่เกือบอาทิตย์  ติดต่อสอบถามโรงพยาบาลอยู่ 2 – 3 ที่ ที่แรกบอกว่ามีแต่หมอเด็กไม่มีจิตแพทย์เด็กที่สามารถเช็กสมาธิสั้นให้ได้  และที่ 2 ไม่รับบุคคลภายนอก จนในที่สุดจึงตัดสินใจติดต่อไปโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งในละแวกนี้  ก็สอบถามข้อมูลเด็กนิดหน่อย  แล้วเราก็แจ้งความประสงค์ไปเลยว่าน้องอาการเป็นอย่างนี้  ต้องการพบจิตแพทย์เด็ก  อยากเช็กสมาธิสั้นด้วย  รอบแรกที่โทรติดต่อไปเป็นพยาบาลรับเรื่องไว้ก่อน  รอบที่สองจึงมีการนัดวันเวลาเป็นวันที่ 22 สิงหาคม เวลา 15.00 น.  พร้อมกับแจ้งว่าครั้งแรกเป็นการประเมินพัฒนาการน้องกับพยาบาลวิชาชีพก่อนนะคะ  พร้อมแจ้งค่าใช้จ่ายในการรักษา  ซึ่งเราเห็นสมควรว่าก็ไม่แพงเท่าที่เรากลัวนะ  พอรับได้

บทความแนะนำ คลิก>> คนท้อง กินยาพาราเซตามอล เสี่ยงลูกเกิดมาสมาธิสั้น !!

Good to know อาการหลัก 3 ด้านของเด็กสมาธิสั้น สังเกตได้จาก อยู่ไม่นิ่ง ซน /  ไม่มีสมาธิ เหมือนไม่ได้ฟังเวลามีคนพูดคุยด้วย / หุนหันพลันแล่น รอคอยไม่ได้[1]

โรคสมาธิสั้น
Credit Photo : Pantip , Shutterstock

พาลูกไปพบหมอครั้งแรก

ก็มีการแนะนำว่าใช้เวลา 1 ชั่วโมง ซึ่ง 30 นาทีแรกเป็นการพูดคุยกับคุณแม่ ต่อไปคือการประเมินพฤติกรรมของน้อง พยาบาลก็แนะนำตัวว่าชื่ออะไร  ขั้นตอนการรักษาเป็นอย่างไร ครั้งนี้คือการประเมินก่อน พี่พยาบาลก็จะมีแบบประเมินตามช่วงวัย  ก็จะมีการถาม – ตอบระหว่างเด็กกับพยาบาล ว่าน้องบอกชื่อได้ไหม สำหรับเด็กวัยนี้คือ ต้องบอกชื่อตัวเอง ชื่อเพื่อน บอกความต้องการ  บอกอวัยวะ บอกสี บอกว่าภาพที่ชี้ให้ดูคืออะไรได้แล้ว แต่ปรากฏว่าลูกชาย ทำได้แบบเกือบตก เพราะอยู่ในห้องที่ประเมินนั้น ลูกไม่นิ่ง ไม่สนใจ ไม่โฟกัสอะไรเลย ทั้งๆ ที่ตอนอยู่บ้านนั้นจะสามารถบอกได้ว่าอวัยวะอะไรเป็นอะไร  ภาพนั้นเป็นภาพอะไร แต่บอกชื่อเพื่อนไม่ได้ ดีที่ยังบอกชื่อตัวเองได้  และระหว่างการทดสอบ ลูกดันปวดท้องเข้าห้องน้ำพอดี พยาบาลบอกเราว่า  ถ้าน้องไม่ปวดท้องเข้าห้องน้ำแล้วมาบอกเรานะ พี่ให้น้องตกข้อเลยนะเนี่ย

ผลออกคือ 50 – 50  พยาบาลก็ยังไม่ปักใจว่าน้องเป็นสมาธิสั้นเพราะอาการของน้องมันก่ำกึ่งมาก  แล้วก็สรุปสาเหตุที่ทำให้น้องเป็นแบบนี้  หลักๆ เลยคือ

  1. การดูการ์ตูนเป็นเวลานาน ทำให้น้องไม่ได้เรียนรู้ว่าจริงๆ แล้วรอบๆ ตัวเขาเนี่ยเป็นไปอย่างไร ประกอบกับในการ์ตูนนั้นเป็นภาพเคลื่อนไหวที่เปลี่ยนไปตลอดเวลา  ทำให้น้องไม่มีสมาธิ  ไม่สมารถจดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้
  2. การที่แม่สอนอย่างหนึ่ง คุณยายสอนอีกอย่าง หรือการที่แม่ดุ แต่คุณยายเข้ามาโอ๋นั้น  ส่งผลให้น้องไม่เชื่อฟัง  คิดว่าตัวเองจะทำอะไรก็ทำได้  แม่ดุก็ดุไปสิ  ยังไงยายก็โอ๋อยู่ดี  พยาบาลบอกน่าเอาคุณยายมาฟัง (วันนั้นไปกับลูกแล้วก็น้องสาว น้องสาวรออยู่ข้างนอก บินมาจากต่างจังหวัดเพื่อมาพาหลานไปหาหมอ และพูดคุยกับคุณยายถึงการรักษา  ตอนแรกยายไม่ยอมให้มาด้วยค่ะ)  ต่อไปต้องคุยกับคุณยายว่าเราจะสอนแบบนี้  ต้องเป็นไปในทางเดียวกัน
  3. อันนี้เป็นข้อที่ทำให้เราสะอึกที่สุด คือ สาเหตุที่น้องตีเพื่อน  ตียาย  ผลักเพื่อน  และหวีด เหวี่ยง เอาแต่ใจ  เราก็ถามสาเหตุจากพี่พยาบาล  พยาบาลมองหน้าเราแล้วถามกลับมาในทันที่ว่า  “ที่บ้านตีลูกไหม?”  เราสะอึกเลยค่ะ  แล้วตอบไปว่า  “ตีค่ะ”  พยาบาลบอกนั่นล่ะค่ะสาเหตุ  เด็กซึมซับพฤติกรรมของเรา  ไม่จำเป็นจริงๆ อย่าตีนะคะ  ถ้าเขาหวีดขึ้นมาหรือทิ้งตัว  โวยวายให้จับแขนเขาไว้นะคะ  ให้ลูกมองหน้าเราให้ได้  วิธีการจับแขนไม่ให้ใช้สองมือกำนะคะ แต่ให้ใช้มือข้างเดียวล็อกข้อมือของลูกไว้  พยาบาลก็สาธิตวิธีการให้ มาถึงตรงนี้คุณลูกชายคงคิดว่าพยาบาลจะทำอะไรแม่  ก็เข้ามาดึงมือพยาบาลออก  จึงทำให้พยาบาลยังไม่ปักใจว่าน้องเป็นสมาธิสั้น  เนื่องจากเด็กที่เป็นสมาธิสั้นหรือออทิสติกนั้น  จะโฟกัสแต่ตัวเอง  สนใจตัวเอง  ไม่สนใจรอบข้าง  อันนี้ลูกยังมีความเป็นห่วงเรา  พอล็อกแขนเขาได้ให้อธิบายว่าทำไม  ทำแบบนี้ไม่ดี  พยาบาลก็ย้ำนะคะว่าไม่จำเป็นอย่าตี  ถ้าจะตีให้ใช้มือตีที่มือ  ตอนตีคุณแม่ตั้งสติก่อนนะคะ  อย่าโมโหแล้วใส่สุดแรง  อย่าหยิกนะคะ  เพราะหยิกนี่เด็กจำฝังใจ

จริงๆ วันนี้พยาบาลจะไม่ทดสอบอารมณ์น้องเนื่องจากเป็นครั้งแรกที่มาไม่อยากให้น้องฝังใจแล้วไม่อยากมาอีกแต่มันก็มีเหตุการณ์ที่ทำให้พี่พยาบาลต้องแสดงให้ดูจนได้นั้นคือ คุณลูกชายเล่นลิ้นชักดึงจนลิ้นชักหลุดออกมา  พี่พยาบาลเขาก็เข้าไปทำเสียงโอ้ย หลุดเลยทำไงดีเนี่ย  หนูทำใช่ไหม ไม่ดีเลยนะ ก็คือทำเสียงดุ  ลูกเราก็นิ่ง  สักพักก็ร้อง วิ่งมาหาเราๆ ก็เกร็งเพราะปกติดุลูกแล้วจะไม่โอ๋  อันนี้พี่เขาก็บอกปลอบลูกเลยค่ะ กอดได้เลยนะคะ  แล้วอธิบายว่าตอนนี้ลูกกำลังรู้สึกแบบไหนอยู่  บอกลูกว่าหนูโมโหที่พี่พยาบาลดุใช่ไหม อธิบายไปว่าไม่ดีเลยเนาะพี่พยาบาลดุหนู  แต่ที่พี่ดุเพราะอะไรอธิบายเหตุผลไปว่าเพราะอะไร  แล้วบอกลูกว่าเขากำลังรู้สึกแบบไหนอยู่  นี่ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่พยาบาลยังไม่ปักใจว่าลูกเป็นสมาธิสั้น  เพราะลูกเรายังรู้จักโกรธ โมโห  แล้วก็พออธิบายสาเหตุ  เหตุผลให้ลูกไป  ลูกยังรู้จักที่จะรับฟัง  พร้อมกับบอกเราว่า  ตอนนี้เขายังเด็กสอนเขาให้ได้ให้เขารู้ทันอารมณ์เขาให้ได้  ถ้าต่อไปเขาโกรธแต่ไม่รู้ว่าตัวเองโกรธทำลายข้าวของขึ้นมา  คนที่จะลำบากคือคุณแม่

บทความแนะนำ คลิก>> สังเกตอาการสมาธิสั้นในวัยประถม

 สรุปแนวทางการรักษาในตอนนี้คือ

  1. งดการ์ตูนเด็ดขาด
  2. ให้เวลากับลูก
  3. หากิจกรรมให้ลูกทำ
  4. ฝึกลูกให้พูดคุยให้รู้เรื่อง เลิกเรียนมาถามลูกว่าวันนี้เป็นยังไง เรียนอะไร  เล่นอะไรบ้าง  เพื่อนทำอะไร  เพื่อนชื่ออะไร
  5. หาสมุดจดว่าแต่ละวันลูกทำอะไรบ้าง
  6. ฝึกให้ลูกทำอะไรด้วยตัวเองห้ามช่วยเหลือ ฝึกให้เขาคิดแก้ปัญหาด้วยตัวเองให้ได้ เปิดฝาไม่ได้ทำอย่างไร สอนให้ลูกคิด  คอยดูอยู่ห่างๆ  แต่ไม่ยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือทุกอย่าง

สรุปสุดท้ายก่อนจากกัน  พี่พยาบาลบอกว่าคุณแม่ไม่ต้องกังวล  ตอนนี้เรายังบอกไม่ได้ว่าน้องเป็นหรือไม่เป็น เป็นช่วงปรับพฤติกรรม จะต้องปรับแล้วนัดมาเจอกันใหม่ก่อน  ถ้าน้องดีขึ้น ปรับแก้ได้ ก็แสดงว่าน้องไม่ได้เป็น  ก็ไม่ต้องพบหมอ  ไม่ต้องเทคคอร์สหลายๆ หมื่น  ตอนนี้คุณแม่ต้องเหนื่อยกว่าเดิม แต่เหนื่อยตอนนี้ดีกว่าปล่อยให้เป็นมากกว่านี้แล้วแก้ไขอะไรไม่ได้นะคะ  แต่ในท้ายที่สุดแล้วถ้าเกิดว่าน้องเป็นขึ้นมาจริงๆ  มันก็ไม่ใช่เรื่องที่เลวร้ายแบบแย่ๆ สุดนะคะ หน้าที่ต่อไปของเราถ้าเกิดน้องเป็นขึ้นมาคือ ช่วยกันช่วยเหลือน้องให้ใช้ชีวิตในสังคมได้แบบไม่มีปัญหา หรือมีปัญหาน้อยที่สุด แล้วก็ไม่ต้องโทษตัวเอง เด็กที่เป็นสมาธิสั้นไม่ใช่เพราะเราเลี้ยงลูกไม่ดี แต่มันเกิดขึ้นเพราะว่าเซลล์ในสมองของลูกมีปัญหาซึ่งเด็กเป็นมาตั้งแต่เกิดไม่เกี่ยวกับการเลี้ยงดู  เลี้ยงดีอย่างไรก็เป็นได้ค่ะ

อ่านต่อ 4 วิธีที่ผู้เชี่ยวชาญแนะนำ ปรับพฤติกรรมลูก หน้า 2

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up