เรียน ว่ายน้ำ ตอนอายุกี่ขวบดี

เด็กจมน้ำพลูวิลล่าอีกราย!แบบนี้ควรเริ่มเรียน ว่ายน้ำ กี่ขวบ

Alternative Textaccount_circle
event
เรียน ว่ายน้ำ ตอนอายุกี่ขวบดี
เรียน ว่ายน้ำ ตอนอายุกี่ขวบดี

ข้อดีของการให้เด็ก ว่ายน้ำ มีดังนี้

  • เสริมสร้างศักยภาพทางการเรียนรู้ การเคลื่อนไหวแขน และขาสลับซ้ายขวาระหว่างว่ายน้ำช่วยสร้างเซลล์ประสาทในสมอง โดยเฉพาะในส่วนคอร์ปัสแคลโลซัม (Corpus Callosum) หรือมัดเส้นใยประสาทที่เชื่อมต่อสมองซีกซ้ายกับซีกขวา ซึ่งมีส่วนช่วยเสริมสร้างทักษะทางวิชาการ การอ่าน การสื่อสาร และการปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมรอบตัว นอกจากนั้น การว่ายน้ำยังช่วยเสริมสร้างประสบการณ์ทางสังคม ซึ่งช่วยเพิ่มพลังสมองได้ด้วย โดยมีงานวิจัยหนึ่งพบว่าเด็กอายุ 3-5 ปีที่ว่ายน้ำเป็นประจำนั้น มีพัฒนาการทางร่างกายและจิตใจ โดยเฉพาะทักษะการออกเสียง การคำนวณ การอ่านและการเขียน ได้ดีกว่าเด็กที่ไม่ว่ายน้ำ
  • เสริมสร้างความมั่นใจ การเล่นน้ำ การร้องเพลง และการปฏิสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับพ่อแม่ ครูสอนว่ายน้ำ หรือเพื่อนในชั้นเรียนว่ายน้ำ อาจช่วยเสริมทักษะด้านต่าง ๆ รวมถึงเสริมสร้างความมั่นใจแก่เด็กได้ โดยมีการศึกษาพบว่าเด็กที่เรียนว่ายน้ำตั้งแต่อายุยังน้อย อาจมีทักษะในการเข้าสังคม มีความทะเยอทะยาน และเห็นคุณค่าในตนเองมากกว่าเด็กที่ไม่ได้เรียนว่ายน้ำ
  • ลดความเสี่ยงในการจมน้ำ การจมน้ำจัดเป็นสาเหตุอันดับต้น ๆ ที่ทำให้เด็ก และทารกเสียชีวิต ซึ่งส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นในสระน้ำหรืออ่างน้ำบริเวณบ้าน ดังนั้น เด็กหรือทารกจึงควรมีทักษะพื้นฐานในการว่ายน้ำหรือลอยตัวบนผิวน้ำติดตัวไว้ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับเหตุการณ์ไม่คาดคิดที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยมีงานค้นคว้าพบว่าการเรียนว่ายน้ำช่วยให้เด็กอายุตั้งแต่ 4 ปีขึ้นไปมีโอกาสจมน้ำลดลง แต่ยังไม่มีหลักฐานสนับสนุนเพียงพอว่าการเรียนว่ายน้ำนั้นช่วยลดโอกาสการจมน้ำในเด็กอายุ 1-4 ปีได้ ส่วนเด็กอายุน้อยกว่า 1 ปีที่เรียนว่ายน้ำนั้น พบว่ามีความเสี่ยงจมน้ำไม่ต่างจากเด็กที่ไม่ได้เรียนว่ายน้ำ พ่อแม่จึงไม่ควรปล่อยให้เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 4 ปีอยู่ในแหล่งน้ำตามลำพัง แม้เด็กจะเคยเรียนว่ายน้ำมาแล้วก็ตาม
เด็ก จมน้ำ ควรให้ลูกเรียนว่ายน้ำเมื่อไหร่ดี
เด็ก จมน้ำ ควรให้ลูกเรียนว่ายน้ำเมื่อไหร่ดี

“ลูกสามารถเริ่มเรียนว่ายน้ำได้ตั้งแต่วัยไหน?”

“ลูกวัย 3-4 เดือน เริ่มเรียนว่ายน้ำได้เป็นเร็วกว่าเรียนหลังจากนี้หรือไม่?”

คำถามยอดฮิตของเหล่าพ่อแม่ที่มีต่อ การเรียนว่ายน้ำ ของลูกนั้น ว่าจะสามารถให้ลูกเรียนว่ายน้ำได้เมื่ออายุเท่าไหร่ หรือการเชื่อว่าเด็กทารกเพียง 4 เดือน ก็มีทักษะพอจะฝึกให้ดำน้ำได้แล้ว เพราะยังมีความคุ้นชินกับสภาวะในครรภ์มารดาที่เต็มไปด้วยน้ำ จึงเกิดคำถามขึ้นกันว่า แล้วแบบนี้วัยของเด็กวัยไหนที่ควรให้เขาเรียนว่ายน้ำกันแน่นะ

สมาคมกุมารแพทย์แนะ!! เด็กที่มีวัยไม่เกิน 4 ขวบ ยังไม่เหมาะสำหรับ การเรียนว่ายน้ำ

สมาคมกุมารแพทย์แห่งสหรัฐอเมริกาได้ให้ความเห็นว่า เด็กที่อยู่ในวัยไม่เกิน 4 ขวบ หากไปเรียน ว่ายน้ำ จะมีความเสี่ยงสูงที่จะเสียชีวิตจากการจมน้ำ เพราะยังไม่พร้อมทั้งพัฒนาการ และทักษะ  การช่วยเหลือตัวเองยังทำได้ไม่ดีพอ อีกทั้งยังไม่เข้าใจคำสั่งของครูผู้สอน และยังสื่อสารได้ไม่ดีพอ หนำซ้ำยังติดเชื้อโรคได้ง่ายกว่าเด็กโต เพราะหลีกเลี่ยงได้ยากจากการสำลักหรือกลืนน้ำในสระว่ายน้ำ

เด็กเล็กที่อยู่ในวัยไม่เกิน 4 ขวบ ควรเป็นช่วงที่คุณพ่อคุณแม่คอยแนะนำให้เขารู้จัก มีความเคยชินกับการอยู่ในน้ำมากกว่า และสอนให้ลูกปฏิบัติตามคำสั่งง่ายๆ เช่น ให้รู้จักการลอยตัวในน้ำ ตีขา และใช้อุปกรณ์ห่วงยาง หรือโฟมช่วยพยุงตัว เป็นต้น

สอดคล้องกับคำแนะนำของคุณหมอสุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ กุมารแพทย์ทารกแรกเกิด ที่ได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ในเพจ สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ ไว้ดังนี้

คุณพ่อคุณแม่มักถามหมอว่า ลูกวัย 3-4 เดือน เริ่มเรียนว่ายน้ำได้หรือยัง ก่อนวัยนี้ไม่ค่อยมีใครถาม เพราะยังวุ่นๆอยู่กับทารกแรกเกิดที่ยังปรับตัวกับโลกใบใหม่ ยังรู้สึกเหนื่อยอยู่มาก แต่พอหลัง 3-4 เดือนเมื่อทุกคนเร่ิมเข้าที่แล้ว ก็จะมีคำถามว่า การเรียนว่ายน้ำ ถ้าเริ่มตั้งแต่เล็กๆ จะทำให้ปลอดภัยเมื่อเกิดอุบัติเหตุทางน้ำ ว่ายน้ำเป็นเร็ว หรือ ว่ายน้ำเก่งกว่าการเริ่มเรียนหลังจากนี้หรือไม่

คำตอบ คือ ไม่จริงแน่นอน ถ้าไม่เชื่อให้ไปถามแชมป์นักกีฬาว่ายน้ำได้เลยว่าเริ่มเรียนว่ายน้ำตั้งแต่อายุกี่ขวบ ส่วนใหญ่จะตอบว่า 4-5 ขวบกันแทบทั้งสิ้น ข้อดีอาจมีบ้างที่ช่วยให้ลูกคุ้นเคยกับน้ำ ไม่กลัวน้ำ แต่สมาคมกุมารแพทย์แห่งสหรัฐอเมริกาแนะนำว่า เด็กที่มีวัยไม่เกิน 1 ขวบ ยังไม่เหมาะสำหรับการเรียนว่ายน้ำ เพราะยังไม่พร้อมทั้งพัฒนาการด้านภาษา ไม่เข้าใจคำสั่ง หรือ คำแนะนำจากครูสอน และ การเคลื่อนไหว ยังไม่เชี่ยวชาญในการเคลื่อนไหวแขนขาได้อย่างคล่องแคล่วว่องไว มิหนำซ้ำยังติดเชื้อได้ง่ายกว่าเด็กโต เพราะเด็กจะกลืน หรือ สำลักน้ำในสระว่ายน้ำ และไม่ควรอยู่บริเวณใกล้กับเด็กโตวัยซนที่กำลังเล่นคึกคะนอง เพราะอาจเกิดอันตรายได้

ถ้าเป็นเด็กเล็ก ควรเน้นให้ลูกมีความเคยชินกับการอยู่ในน้ำ ไม่ต้องจริงจังเคร่งครัด ควรให้ลูกเล่นสนุกตามภาษาเด็ก โดยพ่อแม่ต้องอยู่ใกล้ๆ ให้คำนึงถึงความปลอดภัย สร้างบรรยากาศสนุกสนาน ไม่น่ากลัว อาจมีของเล่นลอยน้ำ อย่าบังคับเพราะจะทำให้ลูกไม่ชอบน้ำ

ไม่บังคับหากลูกยังไม่พร้อม เรียนว่ายน้ำ
ไม่บังคับหากลูกยังไม่พร้อม เรียนว่ายน้ำ

เคล็ดลับในการสอนเด็กว่ายน้ำ

การ ว่ายน้ำ มีประโยชน์ต่อเด็กมากมาย ดังที่ได้กล่าวไปข้างต้น และเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลก การสอนให้ลูก ว่ายน้ำเป็นจึงเป็นเรื่องที่ดีหากเด็กอยู่ในวัยที่เหมาะสมต่อการเรียนว่ายน้ำ นอกจากวัยที่ต้องเหมาะสมต่อการเรียนรู้ และเรียนอย่างปลอดภัยแล้ว เรายังมีเคล็ดลับดี ๆ ในการสอนลูกว่ายน้ำมาฝากกันด้วย ดังนี้

  • เตรียมตัวให้พร้อมก่อนเรียน พ่อแม่ควรพาเด็กมาถึงสระก่อนชั่วโมงเรียนว่ายน้ำเริ่ม 15 นาที เพื่อให้เด็กคุ้นชินกับสถานที่ รวมถึงมีเวลาปรับตัว และทำสมาธิก่อนลงน้ำ
  • ไม่รับประทานอาหารก่อนว่ายน้ำ พ่อแม่ไม่ควรให้เด็กรับประทานอาหารก่อนว่ายน้ำ หากเพิ่งรับประทานอาหารเสร็จ ควรให้เด็กนั่งพักและรอประมาณ 1 ชั่วโมงจึงค่อยลงว่ายน้ำ
  • ไม่บังคับให้เด็กลงน้ำ เด็กบางรายอาจลังเลหรือยังไม่พร้อมว่ายน้ำ พ่อแม่ไม่ควรบังคับ เพราะการบังคับฝืนใจอาจส่งผลให้เด็กเกิดทัศนคติด้านลบต่อการว่ายน้ำ หากเด็กเริ่มร้องไห้โยเยหรือแสดงอาการไม่พอใจเมื่ออยู่ในน้ำ ให้นำเด็กขึ้นจากสระทันที
  • เริ่มต้นด้วยการแช่น้ำในอ่าง ในช่วงแรกเริ่ม พ่อแม่ควรลงไปแช่น้ำในอ่างกับลูกน้อยด้วย เพื่อทำให้เด็กคุ้นเคยกับน้ำ รู้สึกปลอดภัย และสนุกสนาน โดยอาจเทน้ำจากขันรดบนศีรษะและใบหน้าของเด็กทีละน้อย
  • เลือกสระน้ำอุ่น เด็กและทารกยังไม่สามารถปรับอุณหภูมิร่างกายได้ดีเท่าผู้ใหญ่ การว่ายน้ำในสระที่มีอุณหภูมิน้ำเย็นเกินไปอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ พ่อแม่จึงควรนำลูกลงว่ายน้ำในสระน้ำอุ่นที่มีอุณหภูมิประมาณ 32-33 องศาเซลเซียส แต่หากจำเป็นต้องลงว่ายน้ำในสระปกติ ให้นำเด็กขึ้นจากสระทุก ๆ 10 นาทีเพื่อทำให้ร่างกายอบอุ่น ทั้งนี้ พ่อแม่จำเป็นต้องสังเกตการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายของเด็กในระหว่างที่แช่น้ำอยู่เสมอ หากริมฝีปาก นิ้วมือ หรือนิ้วเท้าเริ่มเปลี่ยนเป็นสีม่วง ให้นำเด็กขึ้นจากสระน้ำทันที
  • สร้างบรรยากาศให้สนุกสนาน พ่อแม่ควรลงไปว่ายน้ำกับลูก และสร้างบรรยากาศที่สนุกสนานไปด้วย เช่น การร้องเพลงหรือเล่นเกม และมีใบหน้าที่ยิ้มแย้มอยู่เสมอ เพื่อทำให้เด็กรู้สึกปลอดภัยและคิดว่าการว่ายน้ำเป็นเรื่องสนุก
  • หลีกเลี่ยงการใช้อุปกรณ์ช่วยลอยตัว การใช้อุปกรณ์ช่วยลอยตัวอย่างห่วงยางหรือปลอกแขนว่ายน้ำ อาจทำให้เด็กรู้สึกว่าการว่ายน้ำนั้นไม่ปลอดภัย นอกจากนั้น การใช้อุปกรณ์ดังกล่าวยังบังคับให้เด็กว่ายน้ำโดยจัดร่างกายให้ตั้งฉากกับน้ำ แต่จริง ๆ แล้วท่าว่ายน้ำที่เหมาะสม คือ จัดร่างกายให้ขนานกับน้ำ
  • อุ้มเด็กด้วยท่าที่เหมาะสม วิธีอุ้มเด็กในน้ำนั้นมีหลายวิธี ซึ่งควรเลือกท่าที่ผู้อุ้มและเด็กรู้สึกสบายที่สุด อย่างการอุ้มโดยใช้มือประคองด้านหลังศีรษะและก้นของเด็ก หรือการอุ้มโดยใช้มือทั้ง 2 ข้างประคองใต้รักแร้จากทางด้านหน้าหรือด้านหลัง รวมทั้งผู้อุ้มควรพาเด็กเดินวนรอบสระ เพื่อให้เด็กรับรู้ถึงการเคลื่อนไหวของน้ำ หากเป็นสระเด็กหรือสระที่มีน้ำไม่ลึกมากนัก ให้ผู้อุ้มย่อตัวลงและใช้มือทั้ง 2 ข้างประคองใต้รักแร้ของเด็ก เพื่อให้ตนเองอยู่ในระดับเดียวกันกับเด็ก
  • ไม่ประมาท แม้แต่เพียงเสี้ยววินาที พ่อแม่หรือผู้ดูแลที่ลงไปในสระน้ำกับเด็กต้องอุ้มเด็กด้วยวิธีที่ถูกต้องอยู่เสมอ สำหรับเด็กที่ว่ายน้ำเป็นแล้วอาจปล่อยให้เด็กว่ายน้ำเองได้ แต่จำเป็นต้องเฝ้าดูอยู่ตลอดเวลา ไม่ประมาท และพร้อมเข้าช่วยเหลือทันทีหากเกิดอุบัติเหตุใด ๆ

    ดูแลลูกอย่างใกล้ชิด แม้เขาจะ ว่ายน้ำ เป็น
    ดูแลลูกอย่างใกล้ชิด แม้เขาจะ ว่ายน้ำ เป็น

สระน้ำ กับเด็กเป็นของคู่กันที่เด็กแทบทุกคนจะชื่นชอบกับการเล่นน้ำ แต่น้ำก็ยากที่จะไว้ใจ หากพ่อแม่พาเด็กเล่นน้ำ ไม่ว่าจะแหล่งน้ำใด ที่ใด ก็ตามที ต้องเพิ่มความระมัดระวังใส่ใจในทุกย่างก้าวของลูกเสมอ แม้ว่าเขาจะเรียนว่ายน้ำมาแล้วก็ตาม เพราะหากเกิดเหตุใด ๆ เราไม่สามารถย้อนเวลากลับมาได้เช่นกัน

ข้อมูลอ้างอิงจาก https://www.pobpad.com/ http://www.nurse.nu.ac.th/ http://www.csip.org

อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

ความประมาท อันตรายกว่าที่คิดเปิดวินาทีช็อกที่นอนทับลูก

เตือนภัยลูกเผลอกิน เจลแอลกอฮอล์ อันตรายใกล้ตัว!!

อุบัติเหตุ รถชน จากความประมาทของผู้ปกครอง

15 สาเหตุการเสียชีวิตในเด็กอายุ 0-14 ปีทั่วโลก

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up