imaginia playland ฉลองก้าวสู่ปีที่ 3 เปิดตัวเครื่องเล่นใหม่

event

สนามเด็กเล่น พัฒนาสมองเด็ก

เกี่ยวกับทักษะ EF

EF ทักษะสมอง จุดเริ่มต้นพัฒนาการและกระบวนความคิดสู่ความสำเร็จ

เมื่อ IQ ดี EQ เด่น ไม่เพียงพอ!!! ในช่วง 2-3 ปีหลังมานี้ ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับด้านพัฒนาการเด็กทั่วโลกได้เน้นย้ำถึงความสำคัญและตื่นตัวเรื่องการพัฒนาทักษะสมอง EF มากขึ้น หลังพบการศึกษาและงานวิจัยมากมายบ่งชี้ว่า EF เป็นรากฐานของการพัฒนามนุษย์และพื้นฐานในการดำเนินชีวิตที่ดีอันนำไปสู่การประสบความสำเร็จในชีวิต

EF หรือ Executive Functions เป็นกระบวนการทางความคิดในสมองส่วนหน้าที่ช่วยให้สามารถวางแผน มุ่งมั่นในการจดจ่อและจดจำ รวมถึงจัดสรรการทำงานที่หลากหลายให้ประสบความสำเร็จได้ โดย EF เป็นพื้นฐานของการเกิดวุฒิภาวะทางอารมณ์ หรือ EQ และจากงานวิจัยที่ติดตามเด็กอัจฉริยะมานานกว่า 80 ปี พบว่า IQ ไม่ได้การันตีความสำเร็จในชีวิต

การพัฒนาสมอง EF จึงเป็นการเสริมสร้างพัฒนา EF 9 ด้าน ได้แก่  1. Working Memory (ความสามารถในการจดจำข้อมูลเพื่อใช้งาน) ,2. Inhibitory Control (การยับยั้งชั่งใจ-คิดไตร่ตรอง) ,3. Shift Cognitive Flexibility (การยืดหยุ่นความคิด) ,4. Focus (การใส่ใจจดจ่อ) ,5. Emotion Control (การควบคุมอารมณ์) ,6. Self-Monitoring (การรู้จักประเมินตัวเอง) ,7. Initiating (การริเริ่มและลงมือทำ) ,8. Planning and Organizing (การวางแผนและการจัดระบบดำเนินการ) และ 9. Goal-directed persistence (ความพากเพียรมุ่งสู่เป้าหมาย)

ทำให้ฝึกเด็กให้เป็นคนคิดเป็น ทำงานเป็น แก้ปัญหาเป็น อยู่กับผู้คนเป็น มุ่งมั่นในการทำสิ่งต่างๆ จนลุล่วง และมีความสุข อันเป็นทักษะในกระบวนการคิดขั้นสูงและพื้นฐานสำคัญของการดำเนินชีวิตให้เติบโตอย่างมีคุณภาพและประสบความสำเร็จในทุกด้าน ทั้งการเรียน ชีวิตส่วนตัว ครอบครัว หรืออาชีพ และยังเป็นการเสริมภูมิต้านทานและลดความเสี่ยงต่อการถูกหล่อหลอมยั่วยุที่ผิดพลั้งท่ามกลางสภาวะสังคมยุคใหม่เช่นปัจจุบัน

เล่นอย่างไร ให้เสริมทักษะสมอง EF

ศูนย์การพัฒนาการเด็ก มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้อธิบายว่าเด็กไม่ได้เกิดมาพร้อมกับทักษะชีวิตดังกล่าว แต่มีความสามารถในการพัฒนาได้ทั้งที่บ้านและการศึกษาขั้นปฐมวัย อีกทั้งมีงานวิจัยระบุว่าวัย 3-6 ปี เป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการพัฒนาทักษะ EF ดังจะเห็นได้จากหลายองค์กรทั่วโลกและมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง อาทิ ฮาร์วาร์ด มอนทรีออล และจอห์นฮอปกินส์ ได้นำ EF มาปรับใช้ในหลักสูตรการเรียนการสอน

นอกจากนี้ คู่มือกิจกรรมสำหรับการพัฒนาและฝึกฝนทักษะ EF ศูนย์การพัฒนาการเด็ก มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ยังแนะนำวิธีการพัฒนาทักษะสมอง EF ที่เหมาะสมกับช่วงวัยต่างๆ ดังนี้

6 – 18 เดือน: พัฒนาทักษะการจดจ่อ จดจำ และการควบคุมตัวเอง เช่น การฝึกให้เด็กได้เล่นซ่อนของเล่นใต้เสื้อผ้า การส่งเสียงซ่อนหา การเลียนแบบผู้ใหญ่ที่เด็กวัยนี้มักชื่นชอบ เช่น กวาดพื้นหรือเก็บของ การเคลื่อนไหวนิ้วมือประกอบเพลง การพูดคุย ทั้งนี้ มีการค้นพบว่าเด็กที่ใช้ 2 ภาษา มีทักษะสมอง EF ดีกว่า

18 – 36 เดือน: พัฒนาทักษะด้านภาษา ช่วยให้เด็กบอกสิ่งที่คิดและการกระทำ รวมถึงแสดงออกมาได้ อย่างการเล่นที่ต้องใช้ความเคลื่อนไหวที่ช่วยฝึกทักษะร่างกาย และยังช่วยให้รู้จักการคิดและมุ่งมั่นต่อในการทำสิ่งต่างๆ จนสำเร็จ โดยการหาอุปกรณ์และโอกาสในการเล่น เช่น ฝึกฝนทักษะใหม่อย่างการขว้างบอล การทรงตัวบนแผ่นไม้ การวิ่งขึ้นลงที่ลาดเอียง การกระโดด และสร้างกฎให้ทำตามง่ายๆ เพื่อเพิ่มทักษะความจำและการควบคุมตัวเอง การฝึกให้ร้องเพลงตาม พร้อมเคลื่อนไหวร่างกายแบบสนุกๆ เพื่อฝึกจดจ่อมุ่งมั่น พูดคุย ชวนเล่าเรื่อง และบอกความรู้สึก รวมถึงการเล่นเกมจับคู่หรือเรียงลำดับ และการเล่นสมมุติ

3 – 5 ปี: การฝึกเรียนรู้กฎและแบบแผน เพื่อให้เด็กสามารถพึ่งพาตัวเองได้ ด้วยการเล่นสมมุติ เช่น พ่อแม่ลูก คุณหมอกับคนไข้ การส่งเสริมจินตนาการด้วยหนังสือ ทัศนศึกษา วีดีโอ หรือของเล่นเสริมจินตนาการ การเล่าเรื่องราว แต่งนิทาน เกม จังหวะดนตรี การเล่นจับคู่ เรียงลำดับ เกมปริศนา และทำอาหาร

5 – 7 ปี: เด็กวัยนี้จะเริ่มสนุกกับเกมที่มีกฎ เช่น การใช้เกมการ์ด เกมบอร์ด เกมที่ต้องใช้ร่างกายและความไว อย่างเก้าอี้ดนตรี โยคะ หรือเทควันโด เกมเคลื่อนไหวหรือเกมเพลง เกมที่ได้ฝึกความคิดและเหตุผล หรือเกมทายใจให้เด็กได้ฝึกสมองการจดจำและการยืนหยุ่นความคิด

7 – 12 ปี : การใช้เกมที่มีความท้าทายและซับซ้อนมากขึ้น เช่น เกมการ์ด เกมบอร์ดกับเด็กอื่นๆ ที่ยากขึ้น เกมที่ได้ใช้ความเคลื่อนไหวหรือการเล่นกีฬา ดนตรี ร้องเพลง และการเต้น รวมถึงเกมปริศนาที่ฝึกสมอง เช่น ครอสเวิร์ด หรือซูโดกุ

อ่านต่อ “บทความน่าสนใจ” คลิก!

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up