[Blogger พญ.พิชญา ตันธนวิกรัย] จะชมลูกทั้งทีต้องมี ‘เทคนิค’ ชมยังไงให้เขามีแรงใจทำเรื่องดีๆ ยิ่งขึ้น!?

Alternative Textaccount_circle
event

 

คราวก่อนหมอเล่าถึงการใช้คำชมเพื่อช่วยเสริมพฤติกรรมดีๆให้กับเด็ก มาวันนี้หมอก็คิดว่าจะขอลงรายละเอียดอีกซักหน่อย เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่ใช้เทคนิคการชมอย่างถูกวิธีค่ะ

เพราะการให้คำชมนี่ก็มีเทคนิคการใช้และข้อควรระวังที่น่าสนใจมากนะคะ

หลักการง่ายๆของการให้คำชมก็คือ ชมไปตามพฤติกรรมที่เกิดขึ้นจริงของเด็ก ด้วยความจริงใจของคนชมค่ะ นั่นคือถ้าเรา เห็นเด็กทำเรื่องดีๆอะไร เห็นเด็กมีข้อดีอะไร แล้วเรารู้สึกยังไง เราก็อธิบายไปให้ชัดเจนตามนั้นเลยค่ะ เช่น “น้องดรีมช่วยแม่ถือของด้วย มีน้ำใจจังค่ะ แม่ดีใจจัง”

สังเกตดูนะคะ..  เราจะระบุชัดเลยว่า   เราชมเรื่องอะไร — (พฤติกรรมดีๆคือ “ช่วยแม่ถือของ”)

เราเห็นเด็กมีข้อดีอะไร – (ข้อดีของเด็กคือ “มีน้ำใจ”)

แถมท้ายด้วย         คนชมรู้สึกยังไง – (ความรู้สึกของคนชมคือ “ดีใจ”)

 

การชมแบบมีรายละเอียดแบบนี้ เราจะเป็นเหมือนกระจก สะท้อนภาพดีๆของเด็กให้เขาเห็น ให้เขารู้ว่าสิ่งดีที่เขาทำมีคนมองเห็นและชื่นชม เพื่อให้เขาเกิดความภูมิใจในตนเองและมีกำลังใจทำเรื่องดีๆต่อไปค่ะ

จะเห็นได้ว่าการชมแบบมีรายละเอียดนี้จะต่างกันมากนะคะกับคำชมประเภทที่ชมไปลอยๆ หรือคำชมที่โอเว่อร์เกินจริง อย่าง “เก่งที่สุดเลย ดีที่หนึ่งเลย” เพราะการให้คำชมกว้างๆ นี้ ถ้าใช้บ่อยเกินไป ก็สร้างผลข้างเคียงได้หลายอย่างค่ะ เช่น เด็กเล็กๆก็อาจจะหลงไปกับคำชม เด็กที่โตหน่อยก็อาจจะไม่รู้สึกดี มองว่าเราพูดเกินจริง หรือดีไม่ดีก็อาจจะไปสร้างแรงกดดันให้เด็กโดยที่เราไม่รู้ตัวก็ได้ค่ะ

คำชมแบบมีรายละเอียดที่หมอแนะนำ ถ้าฝึกบ่อยๆจะรู้ว่าใช้ไม่ยากค่ะ และจะช่วยให้เราสังเกตเห็นข้อดีของลูกได้เยอะขึ้นด้วย เพราะฉะนั้นแล้วอย่าลืมสังเกตเรื่องดีๆของลูกแล้วคอยให้กำลังใจเขาบ่อยๆนะคะ

               เด็กคนหนึ่งไม่ได้แข่งขันชนะไปซะทุกครั้ง ไม่ได้ประสบความสำเร็จกับทุกสิ่งที่ทำ แต่เราชมเด็กได้ในทุกความตั้งใจและความพยายามค่ะ

 

 

เรื่องโดย พญ.พิชญา ตันธนวิกรัย   จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น รพ.พหลพลพยุหเสนา
ภาพ Shutterstock

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up