เมื่อลูกติดคำหยาบมาจากนอกบ้าน

Alternative Textaccount_circle
event

ในชีวิตประจำวันเราอาจจะคุ้นเคยกับการใช้คำหยาบผสมกลมกลืนอยู่ในบทสนทนาจนกลายเป็นเรื่องปกติ เด็กน้อยอาจจะมีคำหยาบที่ไปติดมาจากเพื่อนๆ หรือจากการที่ได้ยินมาจากสถานการณ์ต่างๆซึ่งอาจจะมาจากเราเอง

เปลี่ยนการ “ห้าม” เป็น “อธิบาย” ให้มากๆ

ซึ่งหากได้ยินลูกพูดคำหยาบ  สิ่งแรกที่ควรจะทำคือต้องอธิบายให้ลูกรู้ว่าคำนั้นมันไม่ดีอย่างไร เพราะอะไรจึงไม่สุภาพ และหากเขาอยู่ในวัยที่สามารถเข้าใจมากขึ้นแล้ว

เราอาจจะถามเขาว่า“ถ้ามีคนมาพูดกับหนูด้วยคำเดียวกันนี้ หนูจะชอบมั้ย?”ซึ่งถ้าเขาไม่ชอบก็ไม่ควรใช้กับใคร

บางทีเราอาจจะคิดไปเองว่า การอธิบายเรื่องราวเหล่านี้ เด็กก็คงไม่เข้าใจ เราจึงใช้การห้ามซึ่งเป็นวิธีการใช้อำนาจง่ายๆ แต่ความจริงแล้ว ทุกๆเรื่องหากเราใช้เวลาอธิบายให้ลูกฟังด้วยความตั้งใจ เด็กสามารถเข้าใจเรื่องราวต่างๆได้ง่ายกว่าที่เราคิด ผมลองยกตัวอย่างให้ฟังเรื่องราวจากประสบการณ์การเลี้ยงเจ้าปูนปั้นที่เกี่ยวกับคำหยาบนะครับ

ปกติครอบครัวของเราจะหลีกเลี่ยงการให้เจ้าปูนปั้นดูจอมือถือ อย่างไรก็ดีหากปูนปั้นอยากดูการ์ตูนเราก็จะให้เขาเลือกการ์ตูน แล้วเราก็จะคว่ำจอลงให้ฟังแค่เสียง

ครั้งหนึ่งเจ้าปูนปั้นเลือกการ์ตูน Thomas & Friends แต่บังเอิญเป็นเวอร์ชั่นที่มีคนเอามาดัดแปลง ดังนั้นตลอดเรื่องจะมีทั้งคำหยาบและคำแสลงออกมาหลายคำ พอปูนปั้นจะฟังซ้ำเราก็อธิบายให้เขารู้ว่าการ์ตูนตอนนี้มันมีคำที่ไม่เพราะอยู่เยอะ แล้วก็ขอให้เลือกเรื่องใหม่

ผ่านไปหลายวันพอปูนปั้นจะฟัง Thomas &Friends อีก เขาก็พูดขึ้นมาเองเลยว่า “ปูนปั้นจะฟัง Thomas & Friends แต่ไม่เอาเรื่องที่มีคำหยาบนะครับปะป๊า”

TRICK–เมื่อลูกพูดคำหยาบแทนที่จะดุหรือห้าม เราควรใช้การอธิบายให้เขาเรียนรู้และเข้าใจ แต่ถ้าเราหลุดพูดออกมาเสียเองก็ขอให้ยอมรับและขอโทษลูก นอกจากคำหยาบแล้ว คำที่เป็นการแบ่งยกคนเป็นชนิดประเภทต่างๆ หรือคำที่ต้องใช้ให้ถูกกาละเทศะก็ควรจะอธิบายให้เขาเข้าใจและใช้ให้ถูกต้อง

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up