อุทาหรณ์ 13 สิ่งของต้องระวัง ทำลูกน้อยเสี่ยงเสียชีวิต

event

เมื่ออยู่ในบ้านหากคุณพ่อคุณแม่ได้มีโอกาสหันมองสิ่งของรอบๆ ตัว ไม่ว่าจะเป็นของใช้ภายในบ้าน ของเล่นลูก ของกระจุกกระจิกของคุณแม่ เครื่องไม้เครื่องมือช่างแสนรักของคุณพ่อ หรือแม้กระทั่งหมอนใบนุ่มนิ่ม เราอาจไม่เคยนึกฝันก็ได้ว่า ในวันหนึ่งสิ่งของคุ้นเคยเหล่านี้จะสามารถเป็นอันตรายแก่ลูกน้อย หรือ ลูกน้อยเสี่ยงเสียชีวิต ได้

ซึ่งส่วนหนึ่งเพราะเด็กก็คือเด็ก บางครั้งอุบัติเหตุร้ายแรงเกิดขึ้นเพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของคุณพ่อคุณแม่ที่ต้องดูแล และเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด ไม่ควรละเลยสิ่งของใกล้ตัวของลูก เพราะไม่เช่นนั้นอาจนำมาซึ่งเหตุสะเทือนใจก็เป็นได้

ทีมกองบรรณาธิการ ABK ได้รวบรวม สิ่งของอันตรายต่อเด็ก ที่เคยทำให้ลูกน้อยเสี่ยงตายมาเป็นอุทาหรณ์ฝากคุณพ่อคุณแม่กัน เพื่อจะได้รู้เท่าทัน และป้องกันไม่ให้ลูกน้อยที่เป็นดั่งแก้วตาดวงใจของคุณ ต้องพบกับนาทีฉุกเฉิน และนำมาซึ่งความเสี่ยงต่อชีวิตได้

สิ่งของอันตรายต่อเด็ก

1. ของเล่น และสิ่งของชิ้นเล็กๆ

ในการเลือกซื้อของเล่นให้ลูก คุณพ่อคุณแม่ต้องเลือกเหมาะสมกับวัยของลูกด้วย สำหรับเด็กที่อยู่ในวัยกำลังกัด กำลังชอบหยิบอะไรเข้าปาก ไม่ควรให้ของเล่นชิ้นเล็กกับลูก เพราะจะทำให้ลูกน้อยเผลอเอาของเล่นเข้าปากและติดคอได้ หรือของเล่นบางอย่างที่ไม่มีคุณภาพ (ดูได้จากมาตรฐานการรับรองที่ติดอยู่กับของเล่น) คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ควรซื้อให้ลูกเล่นเช่นกัน เพราะอาจปนเปื้อนสารเคมี ส่งผลต่อร่างกายของลูกน้อยได้

(อ่านต่อ ถ่านกระดุมติดคอลูกน้อย เสี่ยงหลอดอาหารทะลุ)

2. อุปกรณ์ซ่อมแซม

ถ้าครอบครัวไหนทำอาชีพเย็บผ้า หรือชอบร้อยเครื่องประดับ อย่างเช่น กระดุม และลูกปัดเล็กๆ หลังทำเสร็จ ควรเก็บให้เรียบร้อย อย่าให้หลงเหลืออยู่ตามพื้นเด็ดขาด และควรเก็บให้พ้นมือเด็ก เพราะไม่เช่นนั้นเด็กอาจหยิบขึ้นมาอมเล่น และเผลอกลืนลงคอไปได้ นอกจากนี้ยังรวมไปถึงอุปกรณ์ซ่อมแซมของคุณพ่อ อย่าง ตะปู น็อต ควรเก็บใส่กล่องปิดฝาให้มิดชิดเช่นกัน

3. เหรียญทุกชนิด

เคยมีกรณีเด็กเล็ก หรือแม้กระทั่งเด็กโต และผู้ใหญ่ อมเหรียญเล่น แล้วกลืนลงคอมาแล้วหลายราย อาจเพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือซุกซนจนไม่ทันได้ระวัง เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่พ่อแม่ควรดูแลและเตือนอย่าให้ลูกอมเหรียญเล่นกันเด็ดขาด เพราะหากมีเหตุคับขันอาจจะตกใจ เผลอกลืนลงคอเข้าไปและจะเป็นอันตรายได้ และหากถึงมือหมอไม่ทันอาจมีอันตรายถึงแก่ชีวิต

สิ่งของอันตรายต่อเด็ก

ที่สำคัญคุณพ่อคุณแม่ต้องสังเกตอาการของลูกด้วยว่า มีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปหรือเปล่า เช่น เอามือจับที่คอ หรือไอผิดปกติ หรือบ้วนน้ำลายอยู่บ่อยครั้งจนผิดวิสัย เมื่อเกิดอะไรขึ้นจะได้ช่วยเหลือ และนำส่งโรงพยาบาลได้ทันท่วงที

4. ของมีคมทุกชนิด

ของมีคมทุกชนิด ถือเป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ต้องระวังมากที่สุด โดยเฉพาะมีดปลายแหลม บางครอบครัวปอกผลไม้เสร็จแล้วลืมเก็บ หรือวางไว้ในที่ที่เด็กหยิบได้ เด็กเห็นจึงหยิบขึ้นเล่น หรือถ้าเด็กโตหน่อยอาจหยิบขึ้นมาเล่นไล่แทงกันโดยหารู้ไม่ว่าอาจเกิดการหกล้มกันได้ ซึ่งส่วนใหญ่จะเลียนแบบจากหนัง หรือในละคร ดังนั้นต้องเก็บให้พ้นมือเด็ก อย่าให้เด็กเห็นว่าเก็บอยู่ที่ไหนจะดีที่สุด เพราะเมื่อพลาดพลั้งไปแล้ว ความสูญเสียที่ไม่อยากให้เกิดขึ้น อาจตามมาได้

5. ขวดของเหลวมีพิษ-ยามีฤทธิ์อันตราย

บ้านไหนที่มีลูกน้อยวัย 1-3 ขวบ สำหรับเด็กเล็กนี้จะอยู่ในช่วงวัยอยากรู้อยากเห็น เมื่อเห็นอะไรเป็นต้องหยิบเข้าปากไปหมด ขวดสารเคมีหลายชนิดที่มีฤทธิ์รุนแรง แถมมีรูปร่างเหมือนกับขวดน้ำดื่ม อาจทำให้เด็กเข้าใจผิดได้

และอาจไม่เฉพาะแต่เพียงเด็กเล็กเท่านั้น เด็กโตก็สามารถเกิดขึ้นได้เช่นกัน ถ้าใครในบ้านมีการเปลี่ยนถ่ายสารเคมีจากภาชนะจริงสู่ภาชนะที่ใช้ดื่มกิน แล้วไม่บอกให้คนในบ้านทราบ ก็อาจทำให้เด็กอาจหยิบขึ้นมากินโดยไม่รู้ตัวได้เช่นกัน ดังนั้นต้องติดป้ายบอกให้ชัดเจน เก็บไว้ในที่มิดชิด และต้องห่างจากมือเด็ก

6. เปลไกวนอน

ใครที่มีลูกเล็กต้องอ่านไว้เป็นอุทาหรณ์เลยนะคะ เพราะเปลไกวของลูกน้อยนี่แหละ อาจทำให้เด็กเสี่ยงตายได้ เพราะเมื่อคุณแม่ไกวเปลจนลูกหลับแล้วก็ลุกไปทำงานบ้านตามปกติ โดยละสายตา ปล่อยให้ลูกนอนคนเดียว พอลูกตื่นขึ้นมา ไม่เจอใคร จึงปีนออกจากเปล หวังจะออกมาหาแม่ แต่อาจพลัดตกลงมาหน้าขมำ หัวแตก และปากแตกได้ หรือถ้าลงผิดท่า อาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ด้วย ดังนั้น เปลไกวควรเลือกแบบที่สามารถล็อกไม่ให้ไกวได้ เพื่อในเวลากลางคืน ลูกของคุณจะได้ไม่กลิ้งไปอยู่ด้านหนึ่ง แล้วติดอยู่ตรงนั้น และควรให้ขอบเปลสูงพอที่จะทำให้เด็กไม่สามารถปีนออกมาได้

(อ่านต่อ ผลิตภัณฑ์อันตราย สำหรับเด็กที่พ่อแม่ต้องระวัง)

สิ่งของอันตรายต่อเด็ก

7. กาวเหนียวไล่แมลงวัน

บ้านไหนที่ทำอาชีพค้าขาย หรือขายของประเภทคาว หวาน และต้องใช้แท่งเหนียวไล่แมลง โดยเฉพาะแมลงวันแล้ว ต้องระวังเด็กให้ดี เพราะเมื่อตั้งไว้ในจุดที่เด็กเล็กสามารถหยิบได้ จะทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้ เช่น เข้าไปหยิบเล่น จนเหนียวติดมือ เกิดอาการแพ้ และคัน หรือนำเข้าปากเพราะเห็นสีสันน่ากิน จนอาจทำให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ นอกจากนี้ถ้าได้สูดดมกลิ่นของแท่งเหนียวมากเกินไปก็เป็นอันตรายต่อร่างกายเช่นกัน ทางที่ดีควรเลือกใช้ให้น้อยที่สุด หรืออาจเปลี่ยนไปใช้อย่างอื่นแทน เช่น ที่ปัดแมลงวันแบบใช้มือ ยอมเหนื่อยหน่อยแต่ปลอดภัยทั้งคนขาย คนซื้อ และเจ้าตัวน้อย

8. เครื่องเล่น ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ

สนามเด็กเล่น ถือเป็นพื้นที่ความสุขที่เด็กร้องให้พ่อแม่พาไปมากที่สุด แต่ในบางครั้งความเป็นสถานที่ของเด็ก จึงไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ที่จะละเลยได้ เพราะเคยมีข่าวตามหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ ที่เครื่องเล่นล้มทับเด็กมาแล้ว ดังนั้นควรตรวจสภาพเครื่องเล่นให้ดีก่อน ว่าอันไหนชำรุด หรือมีสนิมเกาะอยู่บ้าง รวมไปถึงที่ยึดฐานของเครื่องเล่น แน่นหนาพอไหม ถ้าดูแล้วไม่มั่นใจ ก็ไม่ควรให้ลูกเข้าไปเล่น เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายได้

(อ่านต่อ ลด 3 ภัยฮิตเครื่องเล่นสนาม!)

ขณะเดียวกัน เครื่องเล่นบางชนิด พ่อแม่บางคนเห็นว่าแน่นหนาดี โดยเฉพาะ “ชิงช้า” เพราะขนาดเด็กนั่งเล่นกัน 2 – 3 คน ตัวฐานยังมั่นคงแน่นหนาอยู่เลย แต่ทั้งนี้ต้องระวังด้วย เนื่องจากเวลาที่ลูกเรานั่งไกวอยู่คนเดียว ความแรง และแรงดึงมันมาจากลูกเราคนเดียว อาจทำให้ชิงช้าเคลื่อน และล้มทับลูกได้

9. ปืนจริง-ปืนปลอมทุกชนิด

เคยมีข่าวตามหน้าหนึ่งของ นสพ. ให้เห็นกันอยู่บ่อยครั้ง กรณีเด็กเล่นกันกับเพื่อน แล้วหยิบปืนของคุณพ่อมาเล่นยิงกัน โดยที่เจ้าตัวหารู้ไม่ว่า ปืนที่ถืออยู่นั้นเป็นปืนที่มีถูกกระสุนจริง กระทั่งเผลอลั่นไก จนนำมาซึ่งความสูญเสียที่ไม่อาจเรียกชีวิตกลับคืนมาได้ นี่คือเรื่องจริงที่เกิดขึ้นมาแล้ว ดังนั้นบ้านไหนที่มีปืน ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอันใด ขอให้เก็บไว้ในที่มิดชิด ล็อคกุญแจอย่างแน่นหนา และให้ห่างจากมือเด็ก แต่ถ้าจะให้ปลอดภัยที่สุด ต้องไม่มีปืนอยู่ในบ้าน

สิ่งของอันตรายต่อเด็ก

10. ฝาปิดขวดทุกชนิด

ฝาปิดขวดน้ำทั้งหลายที่ผู้ใหญ่ลืมเก็บ อาจเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เด็กเล็กสามารถเอาเข้าปากได้เช่นกัน หรือถ้าขวดไหนปิดไม่แน่น เด็กก็สามารถเปิดออกมาเล่นได้ รวมไปถึงฝาปิดขวดที่เป็นเกลียวอลูมิเนียมคมๆ เมื่อเด็กเล่นซน และบิดเพื่อต้องการเปิด อาจพลาด และถูกบาดเนื้อจนเลือดไหลได้ ทางที่ดีพ่อแม่ควรเก็บให้เรียบร้อย ห่างจากมือเด็ก และไม่ควรให้ลูกเล่นเปิดขวดด้วยตนเอง

11. ขนมขบเคี้ยว

ในกรณีของเด็กเล็ก พ่อแม่ไม่ควรวางหมากฝรั่ง ลูกอม หรือขนมที่มีลักษณะกลม และใหญ่ไว้ใกล้มือเด็ก เพราะอาจเผลอหยิบขึ้นมากิน ถ้าไม่ระวังอาจติดคอได้ ในส่วนของเด็กโตหน่อย ไม่ควรให้ลูกเคี้ยวหมากฝรั่งเป่าลูกโป่งกัน เพราะหากมีเหตุคับขันเด็กจะตกใจ และเผลอกลืนโดยไม่รู้ตัว

หรืออีกกรณีหนึ่งที่เด็กส่วนใหญ่ชอบทำกันคือ การเล่นกระโดดงับถั่วเข้าปากจากที่สูง ซึ่งถือว่าเป็นพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่ปกติตามธรรมชาตินัก ทางคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จึงได้ออกมาเตือนว่า ถ้าเล่นในลักษณะนี้ อาจทำให้สำลัก หรือติดคอ เป็นอันตรายต่อร่างกายได้ คุณพ่อคุณแม่ควรเตือน และดูแลลูกอย่างใกล้ชิดด้วย

12. มหันตภัยหมอนข้าง

เป็นอีกหนึ่งโศกนาฏกรรมของครอบครัว เกี่ยวกับมหันตภัยหมอนข้าง ที่ทำให้ทุกครอบครัวต้องจำเป็นอุทาหรณ์ เพราะจากข่าวสะท้อนว่า พ่อแม่ต้องออกไปขายของ ปล่อยให้เด็กน้อยวัยขวบเศษนอนอยู่ในห้องคนเดียว พอตื่นขึ้นมาด้วยความซุกซนตามประสาเด็ก เอามือคว้าหมอนข้างมาเล่น เห็นเชือกรัดปิดหัวท้ายของหมอนข้างหลุดออกมา จึงดึงมาเล่น และเกิดความผิดพลาด ทำให้เชือกรัดคอตัวเอง จนไม่สามารถช่วยตัวเองได้ ทำให้เด็กหญิงในข่าวดิ้นทุรนทุรายเพื่อเอาตัวเองออกจากเชือก แต่ความพยายามนั้นกลับสูญเปล่า เพราะยิ่งดิ้น เชือกก็รัดกันเป็นเกลียวแน่นขึ้น ทำให้ขาดอากาศหายใจ และเสียชีวิตในที่สุด 

13. แปรงสีฟัน

ใครจะคิดว่าแปรงสีฟัน ก็อาจทำให้ลูกน้อยเสี่ยงเสียชีวิตได้ เพราะเคยมีข่าวของนักศึกษาสาวคนหนึ่ง ซึ่งในขณะที่กำลังเตรียมตัวจะเดินทางไปมหาวิทยาลัย เพื่อเข้าเรียนตามปกติ จึงได้เข้าอาบน้ำแปรงฟันและบีบยาสีฟันใส่แปรงจำนวนมาก แต่ขณะที่กำลังแปรงฟันอยู่นั้น ได้มีฟองสีขาวออกมาเป็นจำนวนมาก ทำให้มีอาการสำลักและอาเจียน จนทำให้แปรงสีฟันหลุดเข้าไปในลำคอทั้งด้าม และด้วยความตกใจ จึงพยายามใช้มือล้วงแปรงสีฟันออกมา แต่กลับไปดันให้แปรงสีฟันหลุดลึกเข้าไปอีก จนมีอาการเจ็บที่ลำคอและหน้าอกอย่างรุนแรง

แม้เรื่องนี้ จะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้น้อยกับคนส่วนใหญ่ หรือมีความเป็นได้น้อยมากที่จะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น แต่คุณพ่อคุณแม่ต้องระวังไว้ด้วย เพราะบางครอบครัวมีแปรงสีฟันขนาดเล็กสำหรับลูกน้อย ถ้าไม่ใส่ใจ อาจทำให้พลาดหลุดลงกระเพาะอย่างที่เป็นข่าวก็เป็นได้ ดังนั้นเวลาแปรงฟัน สอนลูกน้อยจับแปรงให้แน่น และอย่าใช้ยาสีฟันมากเกินไป เพราะจะทำให้มีฟองมาก ทำให้แปรงลื่นหลุดเข้าไปในลำคอได้

และนี่คือ 13 สิ่งที่นำเสนอไว้เป็นอุทาหรณ์ให้กับคุณพ่อคุณแม่ได้ระวัง และเอาใจใส่ลูกน้อยกันมากขึ้น แต่นอกจากนี้ก็ยังมีสิ่งอื่นๆ นอกเหนือจากที่ Amarin Baby & Kids ได้กล่าวมาอีกจำนวนมาก ที่อาจทำให้ลูกน้อยหรือแม้กระทั่งตัวคุณพ่อคุณแม่เอง ต้องเสี่ยงกับนาทีฉุกเฉินโดยไม่คาดคิดก็เป็นได้ ซึ่งถ้าหากคุณพ่อคุณแม่ท่านใดมีประสบการณ์จากสิ่งของในบ้านอื่นๆ ที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อลูกๆ และต้องการแบ่งปันประสบการณ์กับคุณแม่ๆท่านอื่น ก็สามารถคอมเม้นท์ที่หน้าเฟสบุ๊คได้เลยนะคะ

อ่านต่อบทความน่าสนใจ

คลิก >> วิธีช่วยเหลือลูกน้อย เมื่ออยู่ในสถานการณ์เสี่ยงตาย
คลิก >> คลิปวีดีโอ “ช่วยลูกอาหารติดคอ สำลัก เมื่อไม่หมดสติ”
คลิก >> คลิปวีดีโอ “ช่วยลูกสำลัก อาหารติดคอกรณีหมดสติ”

ขอบคุณภาพจาก : www.manager.co.th

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up