ลูกกินยายากมาก ทำยังไงดี

Alternative Textaccount_circle
event

Q: ลูกเล็กไม่ยอมกินยา พอใช้ซีรินจ์ฉีดเข้าไปได้ก็อมไว้หรือพ่นทิ้ง จะป้อนด้วยวิธีไหนดี

การให้ยาแก่เด็กที่กินยายากมีหลายวิธี คุณแม่ลองดูนะคะ

1. ถามเรื่องยากับคุณหมอ

ว่ายาแต่ละชนิดผสมกับอาหารได้หรือไม่ หากอาหารไม่รบกวนการดูดซึมหรือเปลี่ยนคุณสมบัติของยา คุณแม่ก็ใช้วิธีเจือจางยาด้วยน้ำเปล่า น้ำผลไม้ หรือนม

2. ลองขอยาเม็ดจากคุณหมอ

ใช้ที่ตัดยาแบ่งยาตามขนาดที่ต้องการ อย่าใช้มีดทั่วไป เพราะแบ่งได้ไม่แม่นยำและยาอาจแตกไม่ได้สัดส่วน เอามาตำให้ละเอียดแล้วคลุกกับกล้วยบดหรือโยเกิร์ต แล้วให้ลูกกิน จะให้ดี ลองฝึกให้ลูกกลืนอาหารเหล่านี้โดยไม่ต้องเคี้ยว จะได้ไม่สัมผัสโดนรสขมของยา

3. ถ้าอายุ 3 – 4 ขวบ ลองฝึกให้กลืนยาเม็ด

อาจฝึกโดยใช้เม็ดฟลูออไรด์หรือวิตามินซี ให้ดื่มน้ำก่อนเล็กน้อยเพื่อไม่ให้ภายในปากแห้งเม็ดยาจะได้ไม่ติดในปาก วางเม็ดยาตรงกลางลิ้น แล้วให้ดูดน้ำจากหลอดในท่าก้มหน้าเล็กน้อย ให้กลืนน้ำ แรงน้ำจากหลอดจะพายาเข้าไปเอง

4. เตรียมแก้วน้ำหรือเครื่องดื่มที่ลูกชอบ

เพื่อเอาไว้ล้างยาที่ตกค้างในปาก ให้ลูกดูดไอศกรีมหวานเย็นก่อนกินยา ซึ่งอาจช่วยให้ลิ้นชา ทำให้ได้รับรสขมจากยาน้อยลง ยาบางอย่างแช่เย็นแล้วจะขมน้อยลง แต่บางอย่างจะขมมากขึ้น ให้ถามจากคุณหมอก่อน

5. ให้ยาด้วยท่าทีที่สงบ ไม่ข่มขู่คุกคาม

แต่ไม่ลังเลเพราะจะทำให้ลูกกลัวมากขึ้น ถ้าเป็นเด็กที่พูดรู้เรื่องแล้ว ให้อธิบายว่าทำไมต้องกินยา อาจให้เลือกว่าอยากกินจากช้อนหรือซีรินจ์ อยากกินเองหรือไม่ และเมื่อลูกทำได้ก็อย่าลืมหอมแก้มหรือชมเชยให้กำลังใจ อาจให้สติ๊กเกอร์ดาวเป็นรางวัลก็ได้

6. สำหรับเด็กเล็กที่ยังคุยกันไม่รู้เรื่อง

และไม่ยอมกินเมื่อผสมในนม ก็ต้องใช้วิธีจับป้อนยาค่ะ ถามคุณหมอว่าให้ยาตอนท้องว่างได้หรือไม่ จะได้ไม่อาเจียนง่าย ให้คนช่วยจับแขนลูกในท่ากึ่งนั่งกึ่งนอน หรือใช้ผ้าเช็ดตัวพันตัวไม่ให้ดิ้น เตรียมยาและน้ำใส่ซีรินจ์ คนป้อนล้างมือให้สะอาด แหย่นิ้วเข้าไปที่มุมปากเพื่อให้เด็กอ้าปาก หยอดยาเข้าปากตรงบริเวณโคนลิ้นทีละน้อย (ประมาณ 0.5 – 1 ซี.ซี.) แล้วเอานิ้วออกจากปากพร้อมซีรินจ์ เด็กจะกลืนยาลงไปเอง จะได้ร้องไห้ต่อได้ พอยาลงคอไปแล้วก็ทำซ้ำๆ จนยาหมด

ถ้าอาเจียนออกมาก็ประเมินดูว่ายาออกมามากน้อยแค่ไหน เพื่อเติมยาเข้าไปให้ครบ ส่วนมากจะอาเจียนไม่เกิน 2 ครั้ง เพราะเด็กมักเรียนรู้ว่า ถึงอาเจียนออกมาก็ต้องได้เพิ่มเข้าไปอีกอยู่ดี

เมื่อให้เสร็จแล้วก็บอกลูกด้วยโทนเสียงมีเมตตา (ไม่ประชดประชัน) ว่า ถ้าคราวหน้ายอมกินดีๆ ก็ไม่ต้องจับป้อนแบบนี้อีก พูดไปเถอะค่ะ สักวันคงเข้าใจ ถึงลูกร้องไห้มากก็ไม่เป็นไรค่ะ ไม่ได้ทำให้สุขภาพจิตเสีย เพราะพอป้อนเสร็จคุณแม่ก็กอดหรือหอมลูก ปลอบแค่เดี๋ยวเดียวก็เงียบแล้วค่ะ

 

บทความโดย: แพทย์หญิงสุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ กุมารแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญ ด้านทารกแรกเกิด

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up